
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) จัดงาน “วันถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เทคโนโลยีจากงานวิจัยกาแฟอะราบิกากับความยั่งยืนบนพื้นที่สูง” โดยได้รับเกียรติจาก นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเกษตร และประธานอนุกรรมการวิจัย สวพส. เป็นประธานเปิดงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายและผู้ประกอบการ

เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการปลูกกาแฟคุณภาพบนพื้นที่สูง และแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา “กาแฟอะราบิกาของอำเภอแม่แจ่ม” ให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ช่วยสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเกษตร และประธานอนุกรรมการวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) กล่าวว่า งานครั้งนี้มุ่งเน้นการนำเสนอผลสำเร็จของ “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน” ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนากาแฟอะราบิกาให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนและระบบนิเวศ โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยของโครงการหลวงเป็นแกนหลัก พร้อมบูรณาการกับภาคีเครือข่าย ทั้งเกษตรอำเภอแม่แจ่ม วิสาหกิจชุมชน ผู้นำเกษตรกร และบริษัทเอกชนชั้นนำ เช่น ฮิลล์คอฟฟ์ ซีพีออลล์ พีทีจี เอ็นเนอยี ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก และเซ็นทรัลทำ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

การพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟบนพื้นที่สูง ไม่เพียงช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหาใหญ่ของภาคเหนือ และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร งานวิจัยยังส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมขยายองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูงอื่น ๆ เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน

เวทีนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญในการต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับกาแฟผ่านการวิจัยที่ครอบคลุม การเก็บรักษาพันธุกรรม การปรับปรุงสายพันธุ์ การพัฒนาเทคนิคการเพาะปลูก และการยกระดับมาตรฐานการผลิต เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงของเกษตรกร และส่งเสริมให้ “กาแฟแม่แจ่ม” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ของพื้นที่สูงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

การขับเคลื่อนกาแฟอะราบิกาอย่างเป็นระบบ คือหนึ่งในแนวทางสำคัญของการพัฒนาพื้นที่สูงของไทย ด้วยการสนับสนุนงานวิจัยบนพื้นที่สูงตามแบบอย่างโครงการหลวงและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เชื่อมั่นว่า จะสามารถต่อยอดไปยังพื้นที่สูงอื่น ๆ และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมกาแฟของไทยต่อไป