
ส่งตรงจากหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี “นวัตกรรมวัสดุอัดชีวภาพจากของเหลือทิ้งในภาคการเกษตร สำหรับอาคารสำเร็จรูป” ผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชุม คำพุฒ นักวิจัยและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ คว้ารางวัล WIIPA Special Award จาก World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) และรางวัล Gold Medal จาก Association of Polish Inventors and Rationalizers การประกวดในงาน “The 18th International Warsaw Invention Show (IWIS 2024)” ผลงานเรื่อง “BioWood: Innovative Use of Biomass for High-Performance Artificial Construction Materials (ไม้ชีวภาพ: นวัตกรรมการใช้ชีวมวลเพื่อวัสดุไม้เทียมประสิทธิภาพสูงสำหรับงานก่อสร้าง)” จัดโดย Association of Polish Inventors and Rationalizers ณ Warsaw University of Technology กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์

ผศ.ดร.ประชุม เผยว่า จากปัญหาค่าฝุ่น P.M.2.5 จากการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข บวกกับภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องการลดการใช้ปูนซีเมนต์ เนื่องจากคอนกรีตมีค่าการปลดปล่อยคาร์บอนที่สูง และต้องการกลับมาพัฒนาการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นไม้ธรรมชาติ การนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาผลิตเป็นวัสดุทดแทนไม้ในทุกชิ้นส่วนของอาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย แผ่นไม้ โครงเคร่าไม้ อิฐไม้ และผนังแบบแซนด์วิช ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่ได้มีภายในประเทศ สามารถตอบโจทย์สถานการณ์การของโลกในปัจจุบัน และเป็นที่ต้องการของตลาดสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลการตลาดของวัสดุทดแทนไม้พบว่า ประเทศไทยเป็นตลาดของวัสดุทดแทนไม้ที่สำคัญของอาเซียน โดยผลิตวัสดุทดแทนไม้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมากที่สุดแล้วยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศมากถึงร้อยละ 50 ของกำลังการผลิต หรือประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

โดยกระบวนการผลิต นวัตกรรมวัสดุอัดชีวภาพจากของเหลือทิ้งในภาคการเกษตร เป็นการพัฒนาระดับเทคโนโลยีของเครื่องจักรให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในระดับ SME สำหรับรองรับการผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ โดยเครื่องจักรใหม่ที่ผลิตขึ้น สามารถผลิตชิ้นงาน แผ่นไม้อัดและผนังแซนด์วิช ได้ขนาดมากกว่า 50 x 30 ตร.ซม. ส่วนไม้โครงเคร่ามีขนาดยาวมากกว่า 1.00 – 3.00 ม. ซึ่งเป็นขนาดที่มีการผลิตและจำหน่ายเทียบเท่ากับไม้จริงในท้องตลาด โดยเครื่องจักรใหม่มีความสูงการฟอร์มรูปชิ้นงานก่อนเข้าเครื่องถึง 50 ซม. มีการอัดแบบอัตโนมัติ ใช้ไฮดรอลิกขนาด 100 ตัน แรงดัน 20 บาร์ อุณหภูมิเครื่องสามารถตั้งได้สูงถึง 250 องศาเซลเซียส ระยะเวลาในการผลิตชิ้นงานประมาณ 7 – 30 นาที ขึ้นอยู่กับความหนาชิ้นงานและชนิดของชีวมวลที่นำมาใช้งาน การอัดแผ่นวัสดุชีวภาพใช้ของเหลือจากภาคเกษตร อาทิ มาบดย่อยลดขนาดให้พอเหมาะแล้วนำมาผสมกับสารเชื่อมประสานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขึ้นรูปด้วยความร้อน ได้เป็นแผ่นอัดที่ทดแทนไม้จริง ได้มาตรฐานการก่อสร้าง สำหรับนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แผ่นไม้อัดขนาด 30 x 30 ตร.ซม. สำหรับแปรรูปเป็นปาร์เกต์ แผ่นไม้อัดขนาด 50 x 30 ตร.ซม. สำหรับแปรรูปเป็นฝ้าเพดาน ไม้โครงเคร่าขนาด 1.1/2×3 นิ้ว ยาว 1.00 – 3.00 ม. อิฐไม้เทียมขนาด 3 x 6 x 14 ลบ.ซม. และผนังแซนด์วิชขนาด 40 x 20 ตร.ซม.

ผลิตภัณฑ์วัสดุทดแทนไม้ที่เป็นวัสดุชีวภาพในลักษณะของชิ้นส่วนไม้เทียมที่ทำมาจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร คือ แผ่นไม้ โครงเคร่าไม้ อิฐไม้ และผนังแบบแซนด์วิช สามารถใช้ทำเป็นชิ้นส่วนประกอบในการก่อสร้างอาคารไม้สำเร็จรูป (น็อคดาวน์) สำหรับธุรกิจก่อสร้างและตกแต่ง ที่ประหยัดพลังงาน กันเสียง ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมวัสดุอัดชีวภาพจากของเหลือทิ้งในภาคการเกษตร สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีเมล : prachoom_k@rmutt.ac.th โทรศัพท์ 02- 5493410