ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC โดยการสนับสนุนจากบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) จัดงานเสวนาระดับนานาชาติ WATS FORUM 2019 เพื่อสร้างความเข้าใจ และส่งเสริมการพัฒนาแนวความคิดและนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของทุกสรรพสิ่งบนโลก หรือ For All Well-being โดยได้เชิญผู้ทรงความรู้ระดับโลกจากสาขาต่าง ๆ 4 ท่าน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์
งานเสวนาครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากทั้งสื่อมวลชนและผู้คนหลากหลายวงการ ทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา สถาปนิก และผู้ที่ทำงานในแวดวงพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความสนใจในด้านความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) สถาปัตยกรรม (Architecture) เทคโนโลยี (Technology) และความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเองและสังคมโดยรวม
รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) กล่าวถึงจุดประสงค์ในการจัดงานว่า “RISC มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันกระแสการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Well-being ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และเราเชื่อว่า อนาคตที่สวยงามและยั่งยืนอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมกันแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญ เราจึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยหวังว่าทุกท่านที่มาร่วมงานจะได้รับความรู้และแรงบันดาลใจในการค้นหาแนวทางที่จะนำความรู้ความสามารถของตนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน”
เพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างที่ชัดเจนของการพัฒนาอย่างยั่งยืน มร. เชอริง ต๊อบเกย์ อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศภูฏานได้แบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จของประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ ที่ไม่เพียงประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาแบบองค์รวม แต่ประชากรในชาติยังใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอย่างแท้จริง ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมานั้นส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น อัตราการรู้หนังสือสูงขึ้น และความยากจนลดลง
“ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) สำคัญก็จริง แต่สำหรับภูฏาน ความสุขมวลรวมประชากร (Gross National Happiness: GNH) มีความสำคัญกว่า” มร. เชอริง ต๊อบเกย์ กล่าว “กว่า 400 ปีที่แล้ว กษัตริย์องค์หนึ่งของเราเคยกล่าวไว้ว่า ‘หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความสุขได้ รัฐบาลนั้นก็ไม่สมควรดำรงอยู่อีกต่อไป’ คำพูดนี้กลายมาเป็นแนวทางที่เราใช้ในการพัฒนาประเทศแบบองค์รวม คือพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสังคม พัฒนาคน และดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะความสุขนั้นไม่ใช่เพียงสิ่งที่แต่ละคนแสวงหา แต่ควรเป็นสิ่งที่รัฐส่งเสริมด้วย นอกจากนี้ ประเทศภูฏานยังเริ่มใช้ GNH เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรธุรกิจอีกด้วย เพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่แสวงหากำไรเท่านั้น แน่นอนว่า วิธีการของภูฏาน อาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับประเทศอื่น ๆ แต่แนวคิดนี้ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้” นอกจากนี้ ท่านยังได้ชี้ให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงของ “ความสุข” ว่าไม่ใช่ความสนุกสนานร่าเริง แต่เป็นความสบายใจและพอใจในสิ่งที่มี ซึ่งประชาชนชาวภูฏานถึง 92% ยืนยันว่าพวกเขามีความสุขอย่างแท้จริง
รศ. ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ วิศวกร และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล คือผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านที่ค้นพบแนวทางในการสร้างความสุขของทั้งตนเองและผู้อื่น จากการมองเห็นถึงปัญหาในด้านสาธารณสุข ไปจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม ที่สวนทางกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วยทุพพลภาพ โดยทุกวันนี้มีเครื่องมือมากมายที่ผลิตมาเพื่อดูแลหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย แต่ขาดแคลนเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง
เขากระตุ้นให้เราเข้าถึงจิตใจของผู้ทุพพลภาพ “หากเราตาบอด สิ่งที่เราต้องการก็คือความสามารถในการมองเห็นอีกครั้ง และหากเราเป็นอัมพาต ไม่สามารถขยับร่างกายได้เลย สิ่งที่เราต้องการที่สุดก็คือความสามารถในการเคลื่อนไหว ทำงาน และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่น ซึ่งเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขา” รศ. ดร. ยศชนัน และทีมจึงได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่สามารถสั่งงานผ่านคลื่นสมองให้ผู้ทุพพลภาพหรือผู้ป่วยอัมพาตสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ จนถึงขั้นสามารถเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขัน Cybathlon ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และการมอบความหวังให้กับกลุ่มคนเหล่านี้เองคือสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขอย่างแท้จริง
อีกหนึ่งเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน คือผลงานการวิจัยของศาสตราจารย์ ไมเคิล สตีเวน สตราโน นักวิศวเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการสร้างความสามารถใหม่ให้กับพืชเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน “คนส่วนใหญ่มักมองว่า พืชพรรณธรรมชาติ กับ เทคโนโลยี เป็นขั้วตรงข้ามที่ไม่สามารถไปด้วยกันได้ จึงมีนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่มากนักที่ใช้พืชเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ในความเป็นจริงแล้ว พืชมีข้อดีที่น่าสนใจหลายอย่าง พวกมันสามารถสร้างพลังงานผ่านการสังเคราะห์แสงได้ด้วยตัวเอง เก็บกักพลังงานได้ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ซ่อมแซมตัวเองได้ และยังใช้พลังงานและต้นทุนน้อยมากในการดูแล”
ด้วยเหตุผลเหล่านั้นนำมาซึ่งผลงานที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของเขา คือพืชเรืองแสงที่สามารถให้แสงสว่างได้นานถึง 4 ชั่วโมง โดยเขาหวังว่าจะสามารถพัฒนาพืชสามารถส่องแสงสว่างได้ยาวนานขึ้นจนนำใช้แทนโคมไฟอ่านหนังสือหรือเสาไฟตามท้องถนนได้ และยังสามารถเป็นแหล่งพลังงานสำรองหากเกิดเหตุฉุกเฉิน “หากเราประสบความสำเร็จในการสร้างความสามารถต่าง ๆ ให้กับพืช ในอนาคตเราอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้ามาก เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทำให้ไฟฟ้าใช้การไม่ได้ เราก็ยังสามารถอาศัยแสงสว่างจากต้นไม้ที่อยู่รอบตัวเราได้”
ในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับประชากรในเมืองใหญ่ มร. สเตฟาน เดอ โคนิง สถาปนิกชาวดัตช์ที่มากด้วยฝีมือและความสามารถ จาก MVRDV ได้แสดงความเห็นว่า “ปัญหาต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร เป็นปัญหาที่เมืองใหญ่ทั่วโลกล้วนพบเจอ เนื่องจากเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น และเกิดความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่ตามมาคือปัญหามลพิษ การจราจรหน่าแน่น และน้ำท่วมขัง ในมุมมองของสถาปนิกและนักพัฒนาที่ดิน สิ่งที่เราทำได้คือการสร้างพื้นที่สำหรับทุกฝ่าย และวางแผนอย่างครอบคลุม เข้าใจถึงบริบทสังคม และภูมิประเทศในแต่ละพื้นที่ เพราะแม้ปัญหาจะใกล้เคียงกัน แต่แน่นอนว่าย่อมไม่มีที่ใดที่เหมือนกัน”
เขาเสนอการใช้อาคารสูงและโครงการแบบ mixed-use เข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยศึกษาจาก case study ในอดีตที่ประสบความสำเร็จแล้วนำมาปรับใช้ “กรุงเทพฯ มีซอยเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมาย รวมพื้นที่กว่า 10,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทั้งย่านที่อยู่อาศัย เป็นที่ตั้งของธุรกิจในพื้นที่ และเป็นสังคมดั้งเดิมของเมืองหลวง นอกจากนี้ก็ยังมีลำคลองขนาดเล็กจำนวนมากเชื่อมต่อกันเป็นวงจรขนาดใหญ่ รวมถึงแม่น้ำเจ้าพระยาเองก็ได้ใช้ประโยชน์เพียงมูลค่าความสวยงามเท่านั้น จึงน่าคิดว่าเราสามารถนำทรัพยากรที่เรามีอยู่มาใช้เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง”
รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต กล่าวเสริมว่า “ทุกวันนี้เราให้ความสนใจกับตัวเอง กับความต้องการมนุษย์มากเกินไป จนลืมดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว เราจึงควรหันมาสนใจการออกแบบเพื่อสังคมโดยรวม มากกว่าออกแบบเพื่อความสะดวกสบายของมนุษย์เท่านั้น โดยคำนึงถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับเราจริง ๆ ไม่ใช่เพียงความต้องการส่วนตน ส่วนในภาคธุรกิจนั้น เราก็หวังว่าจะได้เห็นความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน”
ในท้ายที่สุด ผู้ทรงความรู้ทุกท่านได้กระตุ้นให้ทุกคนมีแรงผลักดันในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในแบบของตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลกับความล้มเหลว เพราะกูรูทุกท่านล้วนผ่านความล้มเหลวมาแล้วมากมาย จึงจะประสบความสำเร็จในปัจจุบัน
และเพื่อตอกย้ำจุดยืนและความมุ่งมั่นขององค์กร RISC มีความตั้งใจในการจัดงานเสวนา WATS Forum เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิด แบ่งปันความรู้ และสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างอนาคตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
////////////////////////////////////////////////
เกี่ยวกับศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC)
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดยบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) คือศูนย์การวิจัยชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะและความยั่งยืน ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ทั้งหมด 990 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 8 โซน มีการติดตั้งระบบอัจฉริยะ (Intelligent System) ตรวจจับการใช้พลังงานและตรวจจับคุณภาพอากาศ (IAQ) และควบคุมในทุกพื้นที่ เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้อยู่ภายในศูนย์ฯ นอกจากนี้ศูนย์ RISC ยังได้รับการรับรองมาตรฐานจาก WELL Building Standard จาก the International WELL Building Institute (IWBI) เป็นแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการออกแบบเพื่อสุขภาวะและความยั่งยืน ทั้งนี้ RISC มุ่งมั่นในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการอสังหาริมทรัพย์ และเป็นที่ตั้งของ Eco Material Library ซึ่งมีการรวบรวม แสดงรายละเอียดและตัวอย่างวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 400 รายการ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของศูนย์ RISC สามารถติดตามได้ที่ www.risc.in.th
เกี่ยวกับ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC)
บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ดำเนินธุรกิจการพัฒนา ลงทุน และจัดการอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย บ้าน คอนโดมิเนียม และโครงการมิกซ์ยูสชั้นนำระดับสากล พร้อมดำเนินธุรกิจภายใต้คำมั่นสัญญา ‘for all well-being’
MQDC พัฒนาที่อยู่อาศัยและโครงการมิกซ์ยูสภายใต้แบรนด์ “แมกโนเลียส์” (Magnolias) “วิสซ์ดอม” (Whizdom) ดิ แอสเพน ทรี (The Aspen Tree) และมัลเบอร์รี่ โกรฟ (Mulberry Grove) เพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้อยู่อาศัยและสร้างการใช้ชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
MQDC ได้ให้การรับประกัน 30 ปีในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกโครงการเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการก่อสร้างที่ดีเยี่ยม
การประยุกต์ปรัชญา ‘นวัตกรรมแห่งความยั่งยืน’ MQDC มุ่งมั่นที่จะนำพาภาคธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปสู่ความยั่งยืน ดังนั้น MQDC ได้ให้การสนับสนุนงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ซึ่งเป็นศูนย์การวิจัยแห่งแรกของเอเชียที่มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกสรรพสิ่งบนโลก
MQDC ดำเนินงานพร้อมกับการคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตบนโลก มากกว่านั้นยังมีเป้าหมายในการพัฒนาความยั่งยืนเพื่อสังคมโดยรวม
ข้อมูลเพิ่มเติม www.mqdc.com