ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ SACICT ส่งท้ายไตรมาสสามของปีนี้ ด้วยงานนิทรรศการ “หัตถกรรมแห่งบรรพชนไทย ใต้ร่มพระบารมี” ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่พรั่งพร้อมด้วยผลงานศิลปหัตกรรมเก่าแก่ล้ำค่า อีกทั้งกิจกรรม เปิดกรุ “ผ้า” หาเจ้าของ (ใหม่) ที่ได้รับความสำเร็จอย่างน่าภูมิใจ
ภายหลังเสร็จสิ้นการจัดแสดง นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการ เปิดความในใจกับสื่อมวลชน ถึงผลงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา “ สิ่งที่ดิฉันภูมิใจมากที่สุดในช่วง 4 ปีที่ SACICT คือ การช่วยให้ผู้ผลิตงานศิลปหัตกรรมไทย ซึ่งทำงานจากใจ เริ่มปรับมุมมองใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น มองแนวโน้มของโลกแล้วเปลี่ยนตัวเอง ด้วยการออกแบบใหม่ เช่น การใช้สีธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับเทรนด์ของแฟชั่นโลก ในปัจจุบัน แล้วยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภควัยรุ่นก็หันมาให้ความสำคัญกับ งานศิลปหัตกรรม Heritage ที่เป็นมรดกตกทอด มากกว่าเดิม ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ซื้องานหัตถกรรม เพราะความชอบ ความสวยงาม แต่มองว่าความเป็น อัตลักษณ์คือความพิเศษ”
ทั้งนี้ เป็นที่น่าภูมิใจว่า การเปิดกรุ “ผ้า” หาเจ้าของ (ใหม่) ในงานนิทรรศการ “หัตถกรรมแห่ง บรรพชนไทย ใต้ร่มพระบารมี” ผ้าที่นำมาแสดง เช่น งานผ้าทอของครูเผ่า คำปุน ซึ่งมีชื่อเสียง ด้านความประณีต ความละเอียด ทอด้วยลวดลายเฉพาะที่สร้างสรรขึ้นอย่างมีเอกลักษณ์ ได้รับการประมูล ในราคาถึง 4 หมื่นบาท และขยับขึ้นไปเป็น 8 หมื่นบาทในปัจจุบัน
“งานนิทรรศการ “หัตถกรรมแห่งบรรพชนไทย ใต้ร่มพระบารมี” เป็นงานที่นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นของ สะสมของนักสะสม ซึ่งบางอย่างไม่มีการผลิตแล้ว บางอย่างไม่ได้มีใช้ หลายชิ้นเป็นของตกทอดจาก รุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง บางชิ้นเป็นของใช้ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ไทย อายุของงานศิลปหัตกรรมที่จัดแสดง ในที่นี้จึงมีอายุมากกว่าร้อยปีเกือบทุกชิ้น ซึ่งล้ำค่ามาก นำมาจัดแสดงเพื่อเป็นความรู้สำหรับคนไทย เพื่อให้ครูได้เห็นชิ้นงานเหล่านี้ ซึ่งคล้ายเป็นกรณีศึกษาว่า งานเหล่านี้ใช้ทำอะไร ลวดลายเป็นอย่างไร ในแต่ละลวดลายก็บ่งบอกถึงความหมายของลวดลายที่เป็นวัฒนธรรมประเพณีซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่ามาก เพราะมิได้หาดูได้ง่าย”
ภายในงาน ยังมีคันฉ่องส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่มีอายุเกือบ สองร้อยปี หรือของขวัญที่ระลึกซึ่งรัชกาลที่ ๔ เคยทำพระราชทานมอบให้เป็นของขวัญแก่ประธานาธิบดี หรือผู้นำรัฐต่างๆ ซึ่งเทียบได้กับระดับกษัตริย์นานาชาติ
“งานหัตศิลป์ที่มาจัดแสดงมีค่าทั้งเชิงการศึกษาหาความรู้ ทั้งในเชิงคุณค่าทางวัฒนธรรม คุณค่าทางจิตใจ ในที่เดียวกัน การจัดงานในเมือง เพราะอยากให้อยู่ใกล้กับคน เดินทางไปมาสะดวก ให้คนในเมืองมีเวลาแบ่งปัน เข้ามาเยี่ยมชม เพราะหัตถศิลป์เหล่านี้สามารถนำมาใช้ สร้างแรงบันดาลใจ ให้ผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ ได้สร้างจินตนาการเพื่อเกิดลวดลายใหม่ๆ ได้”
นางพิชาลัยกล่าวว่า “ทุกครั้งที่ SACICT มีกิจกรรม ผู้ผลิตงานหัตถศิลป์จะตระหนักว่า ต้องออกแบบชิ้นงานใหม่ เพื่อต่อยอดจากของเดิมเสมอ วิถีปฏิบัติเช่นนี้ ช่วยให้ผู้ผลิตงานศิลปหัตกรรมไทย ขยับเข้ามาใกล้ผู้บริโภคขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีครูช่าง-ครูศิลป์ที่ยินดีถ่ายทอดงานให้คนรุ่นใหม่ ได้อนุรักษ์สืบสานต่อยอด งานศิลปหัตกรรมที่ใกล้จะสูญหายให้คงอยู่ต่อ จนกระทั่งสืบสานในเชิงพาณิชย์ได้ อาทิ ครูอุทัย เจียรศิริ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2562 ผู้ทำเครื่องถม เครื่องร่ำที่รังสรรค์งาน ที่ใกล้สูญหายเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่
“งานคร่ำเป็นงานที่อยู่กับศาสตราวุธชั้นสูงของพระมหากษัตริย์ ไม่มีการใช้ในครัวเรือนหรือชาวบ้าน เมื่อถึงยุคที่กษัตริย์ไม่มีการมอบศาสตราวุธสำหรับผู้ไปปกครองหัวเมืองอีก และเนื่องด้วยเครื่องคร่ำ เป็นงานช่างที่อยู่บนเหล็กเป็นของมีน้ำหนักจึงไม่มีการทำเป็นเครื่องประดับประเภทอื่น เป็นเหตุให้ ศิลปะแขนงนี้เกือบสูญหายจนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสอนวิชานี้ให้แก่นักเรียนศิลปาชีพในสวนจิตรลดา จึงมีการประยุกต์ดัดแปลง เป็นเครื่องประดับและงานหัตถศิลป์ในเชิงพาณิชย์ เช่น การทำคร่ำบนกล่องบ้างแต่ก็น้อยเพราะเป็นงานที่ ทำยากมาก”
ทั้งนี้ นางพิชาลัยทิ้งท้ายถึงความท้าทายและภารกิจของ SACICT ในอีก 4 ปีข้างหน้าว่า ยังคงครอบคลุม ศิลปหัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากการอนุรักษ์ให้มีคนรุ่นใหม่ เข้ามาสืบสานงาน ในอดีต ต่อยอดงานศิลปหัตกรรมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป บนพื้นฐานขององค์ความรู้ ด้วยความคิด สร้างสรรค์ เพราะคุณค่าของงานหัตกรรมอยู่ที่องค์ความรู้ หรือทักษะฝีมือ ภูมิปัญญาที่ตกทอด จากรุ่นสู่รุ่น บนพื้นฐานของการออกแบบหรือประยุกต์ และชิ้นงานที่มีคุณภาพ
“การส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึง-รับรู้ในคุณค่าก็คงต้องดำเนินการต่อไป โดยภารกิจเหล่านี้ต้องปรับ ให้สอดคล้องกับยุคสมัยด้วย ซึ่งเรามั่นใจว่าการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในงานที่เรียกว่า Herritage Fushion จะเป็นปัจจัยสำคัญในระยะต่อไป รวมถึงแนวโน้มการใช้ techno-craft เข้ามามีส่วนช่วยอย่างมากในการผลิตชิ้นงาน