“ไมครอน แวร์” รีแบรนด์ครั้งใหญ่ จับมือสตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ตั้งเป้าพาแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก

• ไมครอน แวร์ ปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ จัดทัพแบรนด์ในเครือ พร้อมลุยสร้างแบรนด์ใหม่ สยายปีกธุรกิจสู่สากล
• ผนึกกำลังสตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ยกระดับแบรนด์ให้เป็น Lifestyle Solutions Provider
• ชูจุดเด่นด้านงานออกแบบ ตอบโจทย์กระแสรักษ์โลก ด้วยการผสมผสานอัตลักษณ์แบบไทยและดีไซน์เรียบง่ายแบบสแกนดิเนเวีย
• สร้างแพลตฟอร์มใหม่รวมดีไซน์เนอร์มากฝีมือ ทั้งไทยและต่างประเทศ ครีเอทงานดีไซน์ผ่านสินค้าของทางแบรนด์
• ตั้งเป้ารุกตลาดต่างประเทศด้วยแบรนด์สัญชาติไทย เพิ่มสัดส่วนส่งออกเป็น 30% ภายใน 3 ปี คาดปี 2563 ยอดขายทะลุ 800 ล้านบาท
หจก. เจ.ซี.พี. พลาสติก ผู้ผลิตกล่องถนอมอาหารและธุรกิจสินค้าเครื่องใช้ในบ้าน ภายใต้แบรนด์ต่างๆ เช่น MICRON WARE และ SUPER LOCK ที่อยู่คู่ครัวเรือนไทยมานานกว่า 25 ปี ส่งต่อการบริหารงานสู่ทายาทรุ่นที่ 2 พร้อมประกาศปรับภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ “ไมครอน แวร์” (MICRON WARE) โดยร่วมกับสตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ (Jacob Jensen Design | KMUTT Bangkok) เพื่อนำแบรนด์ไทยเดินหน้ารุกตลาดโลก ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดต่างประเทศเป็นร้อยละ 30 ภายใน 3 ปี

พลาวุฒิ เจริญจิตมั่น ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ หจก. เจ.ซี.พี. พลาสติก กล่าวว่า ไมครอน แวร์เป็นแบรนด์สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านคุณภาพสูงของคนไทยที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ตั้งแต่ภาชนะในครัว อุปกรณ์เก็บของใช้ เฟอร์นิเจอร์พลาสติก ไปจนถึงของใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องการจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดของใช้ภายในบ้านระดับโลก จึงได้ปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์จากการเป็นโรงงานที่รับผลิตสินค้าให้แบรนด์ต่างชาติ (OEM) มาเป็น Lifestyle Solutions Provider Brand ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และมีจุดเด่นเรื่องงานออกแบบ โดยใช้การผสมผสานระหว่างอัตลักษณ์แบบไทยกับแนวทางการออกแบบจากสแกนดิเนเวีย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความทันสมัย เป็นสากล และสื่อสารในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ไมครอน แวร์จะถือเป็นแบรนด์ของบริษัท (Corporate Brand) ที่มีแบรนด์ย่อยอื่นๆ อยู่ภายใต้ ตลอดจนมีการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์เหล่านั้นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การปรับภาพลักษณ์ของไมครอน แวร์ ในครั้งนี้ หจก. เจ.ซี.พี. พลาสติก ได้ร่วมมือกับสตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการสร้างแบรนด์จากประเทศเดนมาร์กที่มีประสบการณ์กว่า 60 ปี และได้มาเปิดสตูดิโอสาขาที่ 3 ในประเทศไทยโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยได้มีส่วนร่วมออกแบบ และมีประสบการณ์ทางด้านการสร้างแบรนด์ และงานดีไซน์จริง ซึ่งความร่วมมือกับสตูดิโอออกแบบระดับโลกอย่างยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ในครั้งนี้ จะช่วยในการสร้างเอกลักษณ์ที่ชัดเจนให้กับสินค้า และเป็นใบเบิกทางในการติดต่อเพิ่มช่องทางการขายกับห้างใหญ่ๆ ในต่างประเทศ ซึ่งชื่อเสียงของสตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์นั้น เป็นที่รู้จักอยู่แล้วโดยเฉพาะตลาดยุโรปและอเมริกา จึงทำให้เกิดเป็นแบรนด์โลโก้ใหม่ที่เรียบง่ายแบบให้ความรู้สึกถึงความเป็นไลฟ์สไตล์ อบอุ่น และทันสมัย แต่มีชีวิตชีวา สมถะแบบไทยๆ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไมครอน แวร์

สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องใช้พลาสติกของไทยในปีนี้ยังมีการแข่งขันสูงและมีคู่แข่งสำคัญคือสินค้าจากจีนและเวียดนาม ซึ่งในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์กล่องบรรจุอาหารยังเติบโตได้ดีเนื่องจากปัจจัยสำคัญ คือกระแสรักษ์โลกที่เน้นการนำกลับมาใช้อีก (Reuse) เห็นได้จากการที่ผู้บริโภคเริ่มนำกล่องพลาสติกไปจ่ายตลาดหรือบรรจุอาหารแทนถุงพลาสติก ทำให้ภาพรวมยอดขายของบริษัทเติบโต ประมาณร้อยละ 10

จากนี้ไป ไมครอน แวร์ ตั้งเป้ายอดขายปี 2563 ที่ 800 ล้านบาท พร้อมทั้งรุกขยายตลาดต่างประเทศด้วยแบรนด์ต่างๆ ในเครือซึ่งชาวต่างชาติยอมรับและคนไทยภูมิใจ โดยที่ผ่านมามีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และมีแผนเพิ่มสัดส่วนตลาดต่างประเทศเป็นร้อยละ 30 ภายใน 3 ปี จากในปัจจุบันที่ตลาดต่างประเทศมีสัดส่วนร้อยละ 20 และตลาดในประเทศมีสัดส่วนร้อยละ 80 ทั้งนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงจากสภาพเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และในเร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่คือ AMATAS ซึ่งจะเป็นกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังค้นคว้าหาวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยประหยัดพื้นที่จัดเก็บมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ๆ อีกด้วย

“ในฐานะที่เป็นผู้บริหารรุ่นที่ 2 ผมอยากเห็นธุรกิจครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่สร้างมาเติบโตไปอีกขั้นหนึ่ง และเห็นว่าหากต้องการให้ธุรกิจเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน เราต้องยกระดับสินค้า และแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกให้ได้ โดยปรับตัวให้เข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เสริมจุดแข็งเดิมของการมีโรงงานผลิตเอง บวกกับการปรับปรุงพัฒนาด้านดีไซน์ การตลาด และเทคโนโลยีการผลิต เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อีกทั้งเรายังต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อนักออกแบบมากฝีมือทั้งไทยและต่างประเทศ มาออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ผมเชื่อว่าเรามีศักยภาพที่จะสร้างแบรนด์ไทยที่ต่างชาติให้การยอมรับ” พลาวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *