วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับเชิญจากผู้แทนกองการวัฒนธรรม ศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ (CLEC) ในฐานะหนึ่งในสามพันธมิตรห้องเรียนอัตลักษณ์พิเศษภาษาจีนของโลก (中文特色教室) เข้าร่วมงานประชุมภาษาจีนโลก (World Chinese Language Conference: Chinese for the World Openness into the Future) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยสุดา ม้าไว คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ พร้อมด้วย ดร.ณัฐฌาภรณ์ เดชราช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการและหัวหน้าภาควิชาภาษาจีน วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม ณ หอประชุมแห่งชาติ มหานครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยสุดา ม้าไว คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรังสิตได้รับเชิญเข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการ ในฐานะที่มหาวิทยาลัยมีห้องเรียนดนตรีจีนแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีพิธีเปิดเปิดป้ายห้องเรียนดังกล่าวไปเมื่อเดือนกันยายน 2566
“คำว่าเป็นห้องเรียนดนตรีจีนแห่งแรกของโลกนั้น คำนี้ไม่เกินจริง ในโลกของเรานั้นมีห้องเรียนดนตรีจีนเพียง 3 แห่งใน 3 ประเทศ ได้แก่ ห้องเรียนดนตรีจีน วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ห้องเรียนขับร้องประสานเสียง กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และห้องเรียนไท้เก๊กหลงเจี่ย เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยเกิดขึ้นจากนโยบายด้านการศึกษาที่มีชื่อว่า Chinese+ ภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์การแลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ (CLEC) โดยการกำกับดูแลและสนับสนุนของกองการวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการจีน ซึ่งครั้งนี้ได้มีโอกาสพบปะเจรจากับผู้บริหารจากกองการวัฒนธรรมกระทรวงศึกษาธิการจีนหลายท่าน และยังได้พบกับตัวแทนจากห้องเรียนของทั้งสองประเทศด้วย หลังจากได้เจรจาทำให้ทราบถึงแนวทาง ทิศทาง และนโยบายการขับเคลื่อน การผลักดันด้านการศึกษาภาษาจีน ว่าเป็นภาษาที่ไร้พรมแดนอีกภาษาหนึ่ง ภาษาจีนสามารถใช้สื่อสารข้ามทวีป ข้ามโลกไปหากันได้ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง การวาดภาพ และศิลปะอื่น ๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด ในนามของวิทยาลัยศิลปศาสตร์ ขอขอบพระคุณ ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ผู้สนับสนุนกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อเยาวชนทั้งในมหาวิทยาลัยรังสิตและในประเทศ และในอนาคตอันใกล้ ห้องเรียนดนตรีจีนจะมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจจากพันธมิตรทั่วทุกมุมโลกให้ทุกคนได้ติดตาม