วช.-ก.เกษตรฯ-รัฐ-เอกชน ชวนคนเมืองปลูกต้นไม้ โครงการ “ปลูกเพื่อป(ล)อด ล้านต้น ลด PM2.5” หนุน 1 ล้านต้นสร้างพื้นที่สีเขียวทั่วกรุง

วันนี้ (9 ก.พ.63) เวลา 09.00 น. ณ บริเวณ PARC PARAGON ศูนย์การค้าสยาม พารากอน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “ปลูกเพื่อ ป(ล)อด ล้านต้น ลด PM2.5” ภายใต้โครงการ Green City by MOAC จัดโดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานร่วมจัด โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรุงเทพมหานคร สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และสื่อมวลชน เข้าร่วม โดย นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ความเป็นมาของโครงการ หนุน 1 ล้านต้นสร้างพื้นที่สีเขียวทั่วกรุง สร้างความตระหนักประชาชนปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องของทุกคนและทุกคนสามารถมีส่วนร่วม เล็งขยายผลจังหวัดอื่นๆต่อไป

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานในพิธีมอบต้นไม้ให้กับผู้แทนประชาชนจาก 6 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 6 คณะ และผู้แทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน และถ่ายภาพร่วมกันบนเวที

จากนั้น ประธานและผู้บริหารระดับสูงเดินทางไปยังบริเวณสวนกลางลาน Parc Paragon​ กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างดียิ่งจากประชาชน โดยได้เปิดให้มีการลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 4 – 8 ก.พ. 63 มียอดผู้ลงทะเบียนเป็นแล้วประมาณ 750 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.พ.63) ซึ่งเดินทางมาขอรับต้นกล้าภายในงานวันนี้

ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่สูงเกินมาตรฐาน และพบในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ

การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน วช. จึงร่วมกับ กระทรวงเกษตรฯ กรุงเทพมหานคร สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ดำเนินโครงการ “ปลูกเพื่อป(ล)อด ล้านต้น ลด PM2.5” ภายใต้โครงการ Green City by MOAC ขึ้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่สูงเกินมาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

เสมือนการสร้างภูมิต้านทานในระยะยาว รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนและเกษตรกรที่สนใจเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม โดยเป็นความร่วมมือระหว่างส่วนราชการและภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะนำร่องดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และขยายผลไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.พ. 63 เป็นต้นไป จะแจกต้นกล้าที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดซับฝุ่น PM2.5 พร้อมกับคู่มือการดูแลต้นกล้าในรูปแบบออนไลน์

นอกจากนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมมือกันในการแจกจ่ายต้นกล้าล้านต้นให้กับประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดช่องทางการแจกจ่ายต้นไม้ไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อาทิ สำนักงานเขต 50 เขต ร้าน Fresh Mart 100 สาขาทั่วกรุงเทพฯ (CPF) โรงเรียน และวัด เป็นต้น

“วช.ดูแลโครงการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ PM 2.5 โดยความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรุงเทพมหานคร ซึ่งการแก้ PM 2.5 จำเป็นต้องลดที่จุดกำเนิด ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็ต้องลดปริมาณลง ในเขตเมืองปัญหาคือ การจราจร เป็นต้นกำเนิดของ PM 2.5 ที่สำคัญ การปลูกต้นไม้จะช่วยลดปริมาณลงได้ สิ่งที่วช.ช่วยดำเนินการคือ การให้ความรู้วิชาการ คัดเลือกชนิดต้นไม้และเรื่องคู่มือการปลูกและดูแล

ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่า ต้นไม้หลายชนิดช่วยฝุ่นPM 2.5 ได้ โดยได้ร่วมกันเลือกต้นไม้ 6 กลุ่มที่สามารถปลูกได้ในเขตเมืองสำหรับการรณรงค์ปลูกเพื่อปอ(ล)ดในครั้งนี้”

ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช. กล่าวเสริมว่า ประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ www.green-city.online เพื่อขอรับต้นกล้าได้คนละ 5 ต้น โดยระบุสำนักงานเขตที่สะดวกเดินทางไปรับ ซึ่งมีต้นกล้ารวมทั้งสิ้นจำนวน 6 ชนิด ได้แก่ กระดุมทอง ไม้ตระกูลคล้า (คล้าหางนกยูง) ไม้ตระกูลว่าน (เศรษฐีเรือนใน) ไม้ตระกูลเฟิน (เฟินขนนก เฟินเจ้าฟ้า) ไม้เลื้อย (ตีนตุ๊กแก) และต้นสนไซเปรส เตรียมแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ ทั้งบริเวณในและนอกบ้าน สถานที่ทำงาน ริมถนน และสวนสาธารณะ เพื่อเป็นการลดผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปีหน้าและปีต่อไป

“ต้นไม้ที่เลือกมาเป็นไม้เป็นประดับและไม้ยืนต้น และมีชื่อดีเป็นไม้มงคล ซึ่งทั้งหมดมีประสิทธิภาพในการดูดซับฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 30% อย่างกระดุมทองเป็นไม้โตเร็ว เศรษฐีเรือนใน มีความหมายดี ซึ่งนอกจากจะแจกให้ประชาชนไปปลูกแล้ว จะมีการติดตามและส่งเสริมการขยายผลในโครงการระยะยาวโดยแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับติดตามและขับเคลื่อนโครงการ”

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวต่อถึงความคาดหวังในโครงการนี้ 2 ประการคือ คาดหวังว่าจะทำให้ประชาชนเห็น ตระหนักและร่วมมือกันว่า การแก้ไขปัญหา PM 2.5 เป็นเรื่องของบุคคล และคาดหวังว่า การดำเนินการนี้เมื่อมีการปลูกต้นไม้จำนวนมากจะช่วยลดฝุ่น PM 2.5ได้ โดยหากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันปลูกได้เพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่จะสามารถลดจำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ได้ถึง 1-3 วัน

สำหรับนวัตกรรมอื่นๆ เพื่อใช้แก้ปัญหา PM 2.5 โครงการที่ดำเนินการอยู่ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาจากการเผาจากการเกษตรได้แก่ การมีปลูกพืชทดแทน ที่สามารถจะสร้างรายได้มากกว่าการปลูกพืชที่ต้องการเผา 2) การแก้ปัญหาของเสียของเหลือใช้จากการเกษตร ทำอย่างไรที่จะนำมาใช้ประโยชน์หรือแปรรูปเป็นปุ๋ย แทนการเผา การดูแลจัดการฟาร์มเพื่อให้มีของเสียน้อยที่สุด 3)การแก้ PM 2.5 จากการขนส่ง โดยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งสาธารณะ 4)การเพิ่มประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรมในการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่กำลังดำเนินการอยู่ 5)การให้ข้อมูลประชาชนได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ โดยพัฒนาเครื่องตรวจวัดมีประสิทธิภาพสูง ราคาถูก ซึ่งสามารถติดตั้งได้โดยทั่วไปและ6) การจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยหรือ Safe Zone ในบริเวณที่มีพื้นที่มีประชากรมีความเสี่ยงสูง เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น

นวัตกรรมอีกตัวหนึ่งจากโครงการท้าทายไทย ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่เอาเป้าหมายเป็นหลัก คือ แก้ไข PM 2.5 ที่ได้นำมาใช้แล้วได้แก่ เซนเซอร์ Dustboy เวลานี้ได้ติดตั้งไปหลายจุดของประเทศ โดยตั้งเป้าจะติดตั้งให้ได้ 8,000 จุด

ทั้งนี้ผู้อำนวยการวช.ฝากถึงประชาชนว่า คุณภาพอากาศเป็นสิ่งสำคัญ การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องร่วมมือกันคนละไม้คนละมือ เช่น ลดการใช้รถยนต์ที่ผลิต PM 2.5 จำนวนมาก หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดขยะตกค้างและร่วมกันปลูกต้นไม้

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม “ปลูกเพื่อป(ล)อด ล้านต้น ลด PM2.5” ภายใต้โครงการ Green City by MOAC สามารถลงทะเบียนได้ที่ www.green-city.online และร่วมกันติดแฮชแท็ก #ปลูกเพื่อปอด #ล้านต้นลดPM2จุด5 ในสื่อโซเชียลต่างๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *