(ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยของชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ของทั่วโลกว่า ในสัปดาห์นี้มีข้อมูลสำคัญที่น่าตื่นเต้นมาตลอดสัปดาห์ โดยมีรายงานผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ที่ให้ผลน่าพอใจ โดยเฉพาะวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดร่วมกับบริษัทแอสตราเซเนคา ประเทศอังกฤษ และวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทแคนไซโน ประเทศจีน พบว่าวัคซีนทั้งสองแบบนี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในอาสาสมัคร และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง ประกอบกับสัปดาห์ก่อนหน้านี้มีรายงานผลการทดสอบวัคซีนของบริษัทโมเดิร์นนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย ซึ่งผลดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะสามารถพัฒนาและผลิตวัคซีนที่ใช้งานได้ โดยในขณะนี้มีวัคซีนที่กำลังทดสอบในมนุษย์ถึง 30 แบบ ซึ่งวัคซีนอย่างน้อยแบบใดแบบหนึ่งหรือหลายๆแบบน่าจะใช้งานได้ และการพัฒนาวัคซีนในช่วงต่อไปก็จะเข้าสู่การทดสอบระยะที่ 3 ในประชากรจำนวนมากเพื่อดูผลในการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะได้รับการรับรองเพื่อใช้งานทั่วไป
เลขาธิการ วช.กล่าวต่อว่า การทดสอบในช่วงต่อไป จะติดตามว่าภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน รวมทั้งติดตามโดยละเอียดในเรื่องความปลอดภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และที่สำคัญจะต้องติดตามว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนนั้นจะไม่ติดเชื้อโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน เพราะในการทดสอบที่รายงานกันนี้เป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการว่ามีระดับแอนติบอดีหรือมีภูมิคุ้มกันด้านเซลล์เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้ยืนยันว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนี้จะสามารถป้องกันเชื้อได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาติดตามพอสมควรเพื่อให้มั่นใจ นอกจากนี้ยังต้องเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการอีกด้วย
ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่น่าจะมีวัคซีนที่ใช้งานได้จริงโดยผ่านการทดสอบครบทุกขั้นตอนและผลิตได้ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับคนจำนวนมากซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกได้คาดเอาไว้นั้น น่าจะเป็นในกลางปีหน้าเป็นต้นไป ในช่วงต้นปี 2564 จะเริ่มมีวัคซีนจำนวนหนึ่งที่พร้อมใช้ในคน แต่จะยังคงมีจำนวนจำกัด หลังจากนั้นจึงจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มีวัคซีนจำนวนมากเพียงพอ
ในรื่องรูปแบบการใช้งานและราคานั้น วัคซีนแต่ละแบบที่กำลังทดสอบอยู่ในขณะนี้ให้ผลที่ใกล้เคียงกันโดยส่วนใหญ่จะเห็นผลว่ามีระดับภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอหลังฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ดังนั้นจึงคาดว่าจะต้องฉีดวัคซีนคนละ 2 ครั้ง ห่างกันหนึ่งเดือน และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ได้มีการเปิดเผยผลการเจรจาสำคัญที่บ่งบอกถึงแนวโน้มราคาของวัคซีน โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ตกลงสั่งซื้อวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทไบออนเทค ประเทศเยอรมนี ร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าหากวัคซีนประสบความสำเร็จโดยระบุราคาของวัคซีนไว้เลย ทั้งนี้ได้สั่งซื้อวัคซีนจำนวน 100 ล้านเข็ม(สำหรับฉีดในคน 50 ล้านคน) ที่ราคา 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับเข็มละ 20 เหรียญสหรัฐ “ประเมินกันตอนนี้ ว่า วัคซีนโควิด-19 จะราคา 20 เหรียญหรือ 620 บาท ฉีดคนละ 2 เข็ม เท่ากับค่าวัคซีน 1,240 บาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยการคาดการณ์ราคาวัคซีนออกมา เพราะก่อนหน้านี้ที่มีการจองวัคซีนกันเป็นกึ่งการให้ทุนวิจัยแต่ไม่ได้ระบุราคาของวัคซีนเอาไว้” “ซึ่งราคาดังกล่าวนี้ใกล้เคียงกับราคาของวัคซีนไข้หวัดใหญ่” นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าว
สำหรับประเทศไทย มีการดำเนินงานด้านวัคซีนอย่างคู่ขนานกันทั้งสามแนวทาง คือ การพัฒนาวัคซีนในประเทศ และการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิควัคซีนที่ผ่านการทดสอบแล้วจากต่างประเทศเพื่อให้ผลิตได้เพียงพอสำหรับคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งการเตรียมจัดหาวัคซีนจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ประมวลข้อมูลโดย ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม