สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สรุปผลสำเร็จ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ โครงการพันธมิตรสร้างแบรนด์ฯ และ โครงการสนับสนุนเครือข่ายคลัสเตอร์ รวม 3 โปรเจ็กกลุ่ม SMEs สิ่งทอ พร้อมดันผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด คาดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวมกว่าไม่น้อยกว่า 90 ล้านบาท
7 สิงหาคม 2563 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ Early Stage โครงการพันธมิตรสร้างแบรนด์และธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในการแข่งขัน (Born Strong) และ โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME กิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ BCG Fashion Lifestyle ประจำปี 2563 ภายใต้การถอดแบบแนวคิด BCG Economy Model ประกอบไปด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B-Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า C- Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เน้นการนำวัสดุต่าง ๆ นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดความคุ้มค่า และ G-Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว เน้นการแก้ไขปัญหามลพิษ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำประเทศเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นหน่วยร่วม
โดยในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา สสว.ได้เร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ในภาพรวมของทั้ง 3 โครงการ โดยปรับบริบทเพิ่มทิศทางการพัฒนาศักยภาพ และผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์วิถี New normal หรือ รองรับวิถีชีวิตแบบใหม่ ที่ใส่ใจเรื่องการปกป้องและดูแลสุขภาพ และนำองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี เข้ามาสนับสนุน โดยให้คำปรึกษาทั้งในด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาสินค้า การเขียนแผนธุรกิจในเชิงลึก การวางแผนการตลาด ผลักดันผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ จนสามารถพัฒนาฝ่าวิกฤตสถานการณ์ดังกล่าวได้สำเร็จโดยผลลัพธ์คือ
1.โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early Stage) ส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ กว่า 585 รายทั่วประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 19.4 ล้านบาท
2.โครงการพันธมิตรสร้างแบรนด์และธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในการแข่งขัน (Born Strong) สร้างนักออกแบบรุ่นใหม่และสร้างแบรนด์ใหม่ 12 แบรนด์ ผ่านกิจกรรมการประกวด Creative Textiles Award 2020 สร้างมูลค่าการผลิตให้กับผู้รับจ้างผลิต 7 ล้านบาท
3.โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME กิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ BCG Fashion Lifestyle สร้าง 5 คลัสเตอร์ใหม่ ประกอบไปด้วย คลัสเตอร์สิ่งทอการกีฬาและนันทนาการ (Sportech) คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชง (Hemp Fiber) คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและไลฟ์สไตล์สำหรับผู้สูงอายุ (Aging Lifestyle) คลัสเตอร์ชุดเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์สำหรับกิจกรรมสันทนาการแต่งตัวเลียนแบบตัวละคร (Cosplay) คลัสเตอร์สิ่งทอหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน (Circular Textile) สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 60 ล้านบาท
สำหรับกิจกรรมทางการตลาด สสว.ได้สนับสนุนและเพิ่มช่องทางการตลาด มีทั้งแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ และการจัดแสดงนิทรรศการและส่งเสริมการออกตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยจัดขึ้นภายใต้ชื่อ ไทยช้อป SMEs ไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด 19 ชวนคนไทยมาช้อปของไทย ในระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2563 ณ พื้นที่ work plan ชั้น 1 เซ็นทรัลพลาซ่าแกรนด์ พระราม 9 ภายในงาน พบการรวมตัวของผลิตภัณฑ์ อาทิ เสื้อผ้าแฟชั่น กระเป๋า รองเท้า หน้ากากผ้า และกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอตกแต่งบ้าน ที่มีนวัตกรรม และมีคุณภาพ จากผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มสิ่งทอ แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ที่ผ่านการคัดเลือก ภายใต้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ Early Stage 85 ราย โครงการพันธมิตรสร้างแบรนด์และธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในการแข่งขัน (Born Strong) 12 ราย และ การโชว์สุดยอดผลิตภัณฑ์ต้นแบบจาก 5 คลัสเตอร์ เช่น หน้ากากผ้า circular ชุดคอลเลคชั่นเดินทางพัฒนาจากผ้าทอจากเส้นใยรีไซเคิลผสมเส้นใยธรรมชาติ ชุดปฎิบัติธรรมและชุดเสื้อผ้าสำหรับผู้สูงอายุต้านแบคทีเรีย เสื้อผ้า แฟชั่นแนวสตรีทช่วยลดโลกร้อนดีไซน์เก๋ ตอบโจทย์ยุค New normal จากนักออกแบบรุ่นใหม่ จากการประกวด Creative Textiles Award 2020 โดยเน้นตลาดออนไลน์พร้อมขายตลาดส่งออก ทั้ง จีน สิงค์โปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน อเมริกา รวมผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในงานจากผู้ประกอบการกว่า 140 ราย ซึ่งจะสลับเปลี่ยนกันมาจัดแสดงและจัดจำหน่าย นอกจากนี้ ยังมีการจัดโปรโมรชั่นลด แลก แจก แถม มีการแสดงดนตรีสด พร้อมจัดโซนให้ผู้ประกอบการ นำผลิตภัณฑ์มาไลฟ์สดขายของกันเพื่อเป็นการกระตุ้นความต้องการซื้อผ่านทาง Social Media โดย สสว. คาดว่าจากการดำเนินโครงการในภาพรวม จะช่วยพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มช่องทางการตลาด และให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 90 ล้านบาท