แผนงานฯการอ่านสสส. จับมือ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และภาคีเครือข่าย เปิดตัวเว็บไซต์ธนาคารหนังสือออนไลน์

แผนงานฯการอ่านสสส. จับมือ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และภาคีเครือข่าย เปิดตัวเว็บไซต์ธนาคารหนังสือออนไลน์ คัดกรองหนังสือ-บทความเพื่อเด็กปฐมวัยกว่า 580 เรื่อง มุ่งให้พ่อแม่-คนใกล้ชิดเด็กเล็ก ใช้พลังการอ่าน ลดการเรียนรู้ถดถอย-เพิ่มทักษะชีวิตในภาวะวิกฤต แนะ5วิธี ช่วยเสริมพัฒนาการ-สร้างสัมพันธ์ในครอบครัว
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และภาคีเครือข่าย จัดงานเสวนา “สร้างสมรรถนะเด็กปฐมวัยออนไลน์” พร้อมเปิดตัว “เว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์” โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงกับเด็กไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีมาตรการเลื่อนการเปิดภาคเรียน อาจทำให้การเรียนรู้ของเด็กถดถอย สื่อออนไลน์จึงเป็นเครื่องมือเข้ามาช่วยลดช่องว่างในการสื่อสารและเป็นช่องทางเสริมสร้างการเรียนรู้และเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ สื่อออนไลน์จึงควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้กับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็กเล็ก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว และชะลอความรุนแรงของปัญหาการถดถอยในการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเร่งสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายพัฒนา “เว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์” ถือเป็นนวัตกรรมเครื่องมือการเรียนรู้ โดยมีการคัดกรองหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย 464 เล่ม บทความ 121 เรื่อง สามารถดาวน์โหลดอ่านฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงกิจกรรมอีกกว่า 70 กิจกรรม เพื่อช่วยให้พ่อ แม่ และผู้ดูแลเด็กเล็ก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องดูแลเด็กปฐมวัย ใช้เป็นเครื่องมือสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้และการสร้างเสริมศักยภาพที่จำเป็นในวัยเด็ก มุ่งให้เกิดกระบวนการสร้างทักษะฉลาดรู้ด้านสื่อดิจิทัล (Digital Intelligence Quotient : DQ) และการอ่าน (Reading Literacy : RD) ที่สามารถวางรากฐานทักษะการเรียนรู้ของเด็กรอบด้าน ทั้งทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และทักษะป้องกันตนเองจากโควิด-19 ทำให้เด็กมีการพัฒนาศักยภาพนำไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล

ด้าน นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า ในวาระ20ปี ภาคีสร้างสุข : เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะของ สสส. ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ เกิดขึ้นเพื่อจะนำไปสู่คำตอบสำคัญของการร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตพัฒนาเด็กปฐมวัยที่กำลังเผชิญภาวะพัฒนาการถดถอย ขณะเดียวกัน เราจะได้ใช้พลังของการอ่านในการพัฒนาเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มศักยภาพให้เกิดความสมดุล ทั้งโลกดิจิทัลด้วยการวางฐานการสร้างสมรรถนะ สร้างทักษะชีวิต และทักษะเท่าทันสื่อ สร้างปรากฏการณ์ “มหัศจรรย์แห่งการอ่าน” ในการขยายพื้นที่เรียนรู้อย่างกว้างขวาง เพื่อร่วมสร้างสังคมสุขภาวะที่ปรารถนาให้เป็นจริง

นางสาวกษมา กองสมัคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ด้านนโยบายและความมั่นคง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ดีป้า ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เห็นความสำคัญของการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตลอดจนตระหนักถึงพลังของการใช้สื่อดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่ผ่านมา ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัล “วิทยากรตัวคูณ สูงวัย สร้างสรรค์ รู้เท่าทันสื่อดิจิทัล” กิจกรรมพัฒนาทักษะยูทูบเบอร์ผู้พิการทางสายตา การร่วมมือกับ สสส. และภาคีเครือข่าย จัดทำเว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ เพื่อเป็นหนึ่งในสื่อที่ให้ความสำคัญในการวางรากฐานทักษะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัล หรือ Media Information and Digital Literacy (MIDL) ตั้งแต่ปฐมวัยซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า พ่อ แม่ ผู้ดูแลเด็กเล็ก ถือเป็นบุคคลสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ทั้งด้านสติปัญญา ความคิด ภาษา และพฤติกรรม หากเด็กสามารถเข้าถึงสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ อาจส่งผลให้เด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เช่น ก้าวร้าว ต่อต้าน การร่วมมือกับ สสส. จัดทำเว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย จึงถือเป็นการเปิดพื้นที่สื่อปลอดภัยให้พ่อ แม่ ผู้ดูแลเด็กเล็ก มีทางเลือกที่ถูกต้องในการเลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ซึ่งการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กจะเกิดขึ้นได้ดีที่สุด มี 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ใช้ภาษา อ่านนิทาน ถาม-ตอบกับผู้ปกครอง 2.เคลื่อนไหว ทำกิจกรรมในครอบครัว 3.ปรับตัว เข้าสังคมกับคนรอบข้าง 4.มองตา และ 5.สัมผัสหรือกอด เว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย นอกจากจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านแล้วยังสร้างกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่คนในครอบครัว
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ www.earlychildhoodbookbank.com เว็บไซต์แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. www.happyreading.in.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ “อ่านยกกำลังสุข”

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *