นักวิจัยทางพืชศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เผยมีการค้นพบ “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” ชนิดใหม่ของโลกเพิ่มอีก 2 ชนิด ล่าสุดได้รับการตีพิมพ์ในวารสารในเครือ Springer แล้ว
รองศาสตราจารย์ ดร. พจมาลย์ สุรนิลพงศ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และนักวิจัยด้านพืชศาสตร์ มวล. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนพร้อมด้วยทีมนักวิจัยของมวล. ได้ค้นพบต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงเพิ่มใหม่อีก 2 ชนิด ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกพร้อมได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Kew Bulletin ของสวนพฤษศาสตร์คิว (Official Journal of the Royal Botanic Gardens, Kew) ประเทศอังกฤษแล้ว โดยหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดแรก พบบนเทือกเขาชวาปราบใน จังหวัดกระบี่ ทีมวิจัยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า นีเพนธีส เฮอเทลล่า (Nepenthes hirtella) มีชื่อทั่วไปว่า Tiger Ampown หรือ เสืออำพล ส่วนอีกหนึ่งชนิดพบบนเทือกเขาหลวง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งชื่อว่า นีเพนธีส บราทีโอซ่า (Nepenthes bracteosa) เรียกทั่วไปว่า Tiger Nakhon หรือเสือนคร ทำให้ ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีหม้อข้าวหม้อแกงลิงทั้งหมด 16 ชนิด 1 สายพันธุ์
รองศาสตราจารย์ ดร. พจมาลย์ กล่าวว่า หลังจากนักวิจัยได้รับทราบข้อมูลว่ามี “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” ชนิดใหม่ ทีมสำรวจได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลตัวอย่าง เพื่อนำมาดูลักษณะทางด้านพฤกษศาสตร์ ตั้งแต่รูปร่าง ลักษณะ และขนาดของตัวหม้อ ปีกบนตัวหม้อ ขน ปากใบ แผ่นปิดที่ปากใบ ว่ามีลักษณะแบบไหน ลำตัน ใบ หม้อ มีขนมากน้อยขนาดไหนและมีความสั้นยาวเท่าไหร่ ใบมีลักษณะเรียวยาวหรือสั้นป้อม รวมทั้งดูลักษณะของช่อดอกตัวผู้และช่อดอกตัวเมีย หลังจากนั้นได้นำใบมาสกัดดีอ็นเอ เพื่อจำแนกความแตกต่างของหม้อข้าวหม้อแกงลิงแต่ละชนิด เพื่อเปรียบเทียบและยืนยันว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่พบเป็นชนิดใหม่ของโลกจริงหรือไม่ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุล AFLP
ซึ่งจากผลการเปรียนเทียบลักษะทางพฤษศาสตร์และผลจากดีเอ็นเอยืนยันว่า หม้อข้าวหม้อแกงลิงทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว แตกต่างจากพืชในสกุลหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่นๆ ที่พบมาก่อนหน้านี้ในประเทศไทย และมีความแตกต่างกันมากพอที่จะจัดให้เป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดใหม่ได้ รวมทั้งมีความแตกต่างจากหม้อข้าวหม้อแกงลิง ชนิด Nepenthes krabiensis (เนเพ็นเดส กราเบียนสิส) ซึ่งนักวิจัยได้พบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก เป็นชนิดแรกในปี พ.ศ. 2558 ด้วยหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่พบทั้ง 3 ชนิดนี้มีลักษณะพิเศษที่ค้นพบบนตัวหม้อคือ มีจุดประคล้ายกับลายเสือจึงได้จัดให้ชื่อมีคำว่า “เสือ” ดังกล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร. พจมาลย์ กล่าวต่อไปอีกว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำการศึกษาเรื่องชนิดและสายพันธุ์ “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพืชชนิดนี้มีการกระจายตัวอยู่ในประเทศแถบอินโดจีน ได้แก่ จีน เวียดนาม ลาวกัมพูชา ไทย มาเลเซียอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยพบหม้อข้าวหม้อแกงลิงกระจายตัวตามภูเขาสูง หรือที่ราบลุ่มที่มีความชื้น และแสงแดดพอประมาณทั่วทุกภาคของประเทศ ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกรวมถึงภาคใต้และด้วยภาคใต้ของประเทศไทยมีสถาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหม้อข้าวหม้อแกงลิงทำให้พบหม้อข้าวหม้อแกงลิงหลายชนิดในภาคใต้
“หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชอนุรักษ์ถูกจัดอยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาไซเตส ซึ่ง 2 ชนิดที่พบใหม่อยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์ วิธีการอนุรักษ์จะใช้การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด การปักชำกิ่ง หรือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อย่างไรก็ตามปัจจุบัน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รวบรวม สายพันธุ์ “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” กว่า 20 ชนิดไว้ที่อุทยานพฤกษศาสตร์ ซึ่งจะเปิดให้เข้าศึกษาเยี่ยมชมได้ในเร็วๆ นี้”รองศาสตราจารย์ ดร. พจมาลย์ กล่าวในตอนท้าย