กลุ่มผีเสื้อขยับปีก รณรงค์หยุดข่มขืนคุกคามทางเพศ เปิดปมปัญหาความรุนแรงทางเพศในไทยยังสูง ส่วนใหญ่เป็นเด็ก –เยาวชน อึ้ง อายุน้อยสุดแค่ 4 ขวบ ไม่เว้นแม่เฒ่าวัย 94 ปี สุดสะเทือนใจโดนคนใกล้ชิดกระทำ ยื่น 6 ข้อเรียกร้องรัฐบาล – นักการเมือง เร่งแก้ปัญหา กำหนดกรอบจริยธรรมหยุดการคุกตามทางเพศ เปิดช่องทางร้องเรียน ลงโทษจริงจัง ปลูกฝังจนท.รับ-ทำคดีอย่างเข้าใจผู้เสียหาย บ่มเพาะความเข้าใจ เคารพสิทธิ ร่างกายผู้อื่น
เมื่อวันที่ 26 เมษายน เวลา 10.00 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลุ่มผีเสื้อขยับปีก ซึ่งประกอบด้วยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ และมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว ร่วมกันจัดกิจกรรม รณรงค์ต่อต้านการข่มขืนคุกคามทางเพศ ตอน “ผีเสื้อผู้กล้าเราจะยืนเคียงข้างเธอ” โดยมีการเดินรณรงค์แจกสื่อประชาสัมพันธ์ต่อต้านการข่มขืน คุกคามทางเพศตั้งแต่บริเวณสวนสันติภาพ มาจนถึงเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยฯ จากนั้นได้มีการจัดแสดงละครสะท้อนสังคม “ผีเสื้อผู้กล้า…เราจะยืนเคียงข้างเธอ” โดยทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์ พร้อมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ปกป้องผู้เสียหาย คนผิดต้องถูกลงโทษ” โดยมีประชาชนบริเวณดังกล่าวให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลข่าวสารความรุนแรงที่เสนอผ่านหนังสือพิมพ์ปี 2562 พบว่ามีสูงถึง 333 ข่าว พบมากสุดที่ กรุงเทพฯ รองลงมา ชลบุรี ขอนแก่น กระบี่ อุดรธานี โดยแบ่งเป็น ข่าวข่มขืน ร้อยละ 43.9 ข่าวบังคับค้าประเวณี ร้อยละ 11.7 ข่าวพยายามข่มขืน ร้อยละ10.2 ข่าวกระทำอนาจาร ร้อยละ 9.6 ซึ่งผู้ที่ถูกกระทำมากที่สุดคือเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 87.5 อายุน้อยสุด คือเด็กหญิง 4 ขวบ อายุมากสุด 94 ปี ส่วนผู้ลงมือกระทำพบว่าเป็นคนแปลกหน้า ร้อยละ 45.9 เป็นคนรู้จัก เป็นคนในครอบครัว ร้อยละ 45.6 และคนรู้จักผ่านทางโซเชียลมีเดีย ร้อยละ 8.5 ทั้งนี้ปัจจัยกระตุ้นสำคัญคือมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 33.5 ใช้ยาเสพติด ร้อยละ 17.4 อ้างว่ามีความต้องการทางเพศ ร้อยละ 13.4
จากข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลที่มูลนิธิฯ ได้ให้การช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กเมื่อปี 2562-2563 ซึ่งเข้ารับคำปรึกษาช่วยเหลือ 36 กรณี ส่วนใหญ่เป็นกรณีถูกข่มขืน โดยผู้ถูกกระทำคือ นักเรียน นักศึกษา พนักงานของรัฐ บริษัทเอกชน รับจ้าง ตามลำดับ ทั้งนี้ จะเห็นว่าคนที่ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งถูกกระทำจากคนรู้จักในจำนวนใกล้เคียงกับคนแปลกหน้า สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำ-ผู้ถูกกระทำอย่างชัดเจนภายใต้โครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ถึงเวลาแล้วที่พรรคการเมืองจำเป็นต้องกำหนดจริยธรรมทางเพศให้ชัดเจนและมีระบบการตรวจสอบที่เข้มข้น เพราะนักการเมืองมีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ จะต้องชัดเจนในการไม่ใช้อำนาจในการเอาเปรียบ หรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อผู้อื่น รวมถึงองค์กรและสถาบันอื่นๆ ด้วย เพื่อนำไปสู่การสร้างมาตรฐานความเท่าเทียมทางเพศในสังคมร่วมกัน
ในโอกาสเดียวกันนี้ น.ส.เครือมาศ ศรีจันทร์ รองประธานมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้นำอ่านแถลงการณ์ต่อต้านการข่มขืน และการคุกคามทางเพศ จากนั้นจึงร่วมกันร้องเพลง “เธอ…ผู้ไม่แพ้” ทั้งนี้ในแถลงการณ์ฯ ได้ระบุถึงกรณีผู้หญิงที่เป็นผู้เสียหายกว่า 15 คนเข้าร้องทุกข์ เพราะถูกอดีตรองหัวหน้าพรรคการเมืองรายหนึ่งล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา สะท้อนว่าการข่มขืนและคุกคามทางเพศเป็นปัญหาที่แทรกตัวอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม จึงมีข้อเรียกร้อง ให้รัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ดำเนินการทุกวิถีทาง ที่จะขจัดปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย ดังนี้ 1.รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่ยุติปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคมไทยอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ชัดเจน ตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริง และจัดสรรทรัพยากรเพื่อการดำเนินงานอย่างเพียงพอ
2. หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ สำนักตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม และกระทรวงยุติธรรม ต้องร่วมมือกัน เร่งปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ให้สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การเสริมศักยภาพบุคลากรให้มีความตระหนัก เข้าใจสภาพปัญหา และมีวิธีปฏิบัติที่ตอบสนองต่อคดีความรุนแรงทางเพศด้วยความละเอียดอ่อน เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้เสียหาย ถือเอาผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งมีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ 3. รัฐบาล โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ควรจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะด้าน ให้มีหน้าที่สนับสนุนและคุ้มครองผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศให้ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และได้รับการเยียวยาทางสังคมและสุขภาพที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ
4. ทุกภาคส่วนของสังคม ต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศในหน่วยงาน จากการกระทำของบุคลากรในสังกัด หรือเกิดกับกลุ่มประชากรที่หน่วยงานดูแลรับผิดชอบ ไม่มองเป็นปัญหาส่วนบุคคล ควรกำหนดมาตรการทั้งเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา กำหนดมาตรฐานจริยธรรมของบุคลากรที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ออกระเบียบว่าด้วยการจัดการปัญหาและลงโทษผู้กระทำผิดกรณีล่วงละเมิดทางเพศอย่างชัดเจนและเหมาะสม จัดตั้งกลไกรับเรื่องร้องเรียนและสอบสวนข้อเท็จจริง และมีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง 5. กระทรวงศึกษาธิการควรยอมรับความจริง และให้ความสำคัญต่อการบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น ตั้งแต่วัยเด็ก และ 6. ทุกภาคส่วนของสังคม ต้องช่วยกันหยุดยั้งวัฒนธรรมการสื่อสารและแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เป็นการกล่าวโทษและตีตราผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศ ควรส่งเสริมทัศนคติไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศ ตลอดจนทัศนคติและวิถีปฏิบัติที่สะท้อนถึงการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันของสมาชิกของสังคม.
ขณะที่ นางสาวหทัยรัตน์ วิทยพูม หรือแอนนา กล่าวว่า เมืองไทยยังคงเป็นเมืองที่พูดได้ว่า “ในที่สุดกฎแห่งกรรมจะทำหน้าที่ของมันเอง” เพราะกระบวนการยุติธรรมยังไม่ถูกทำหน้าที่ การล่วงละเมิดส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะผู้กระทำส่วนใหญ่คิดว่ามีอำนาจเหนือกว่าจึงกระทำได้ ตนเชื่อว่าวันนี้มันจะไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะว่าแสงสว่างจากเทียนในมือทุกคนส่งสว่างไปทั่ว เป็นแรงสั่นสะเทือนที่ทำให้โครงสร้างปิตาธิปไตย เกิดรอยร้าวยากที่จะปกปิด กำลังจะพังลงในไม่ช้า วันนี้ตนไม่ใช่เหยื่อ แต่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงไม่อายที่จะออกมาพูด คนที่ควรอายคือผู้กระทำ ซึ่งต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย จึงจะทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ ขอให้กำลังใจผู้เสียหายในคดีอาญาทุกคน การต่อสู้ผ่านไปแล้ว ทุกคนเก่งมากจึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนกลับมาเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่มีความสุขทุกวัน สังคมพร้อมที่จะโอบกอดทุกคน.