หมอประเวศกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน HA National Forum เสนอให้เรื่องความปลอดภัยและสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนทั้งแผ่นดินเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศไทย แนะใช้องค์กรตะกูล ส. ทั้ง 8 เป็นฟันเฟืองเชื่อมประสาน Synergy พลังประเทศไทยทุกระบบแบบองค์รวม เชื่อหากคนไทยผนึกกำลังกันจะสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Synergy for Safety and Well-Being” ในงานประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 โดยกล่าวว่า ธีมงานประชุมในครั้งนี้คือการผนึกกำลังเพื่อความปลอดภัยและสุขภาวะ ซึ่งตนขอเติมด้วยว่าเป็นสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน ถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะเป็นไปเพื่อชีวิตของมนุษย์
นพ.ประเวศ กล่าวต่อไปอีกว่า ความปลอดภัยและสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนทั้งแผ่นดิน ควรเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน มีแต่เป้าหมายที่แยกส่วนแยกย่อย แต่ถ้าตั้งเป้าหมายแล้วทุกส่วน ทุกองค์กร ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ก็จะเกิดความเป็นองค์รวม
“หากดูคำจำกัดความเรื่องสุขภาพขององค์การอนามัยโลก คือ Health is complete well-being ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญา ไม่เพียงแค่การไม่มีโรคเท่านั้น แต่เป็นการบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด เราจึงพูดว่าเรื่องสุขภาพคือทั้งหมด เมื่อเป็นทั้งหมด จึงควรเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา”นพ.ประเวศ กล่าว
นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ความเป็นองค์รวมในสำคัญและมีพลังมาก ยกตัวอย่างร่างกายของคนเราที่มีความเป็นองค์รวม อวัยวะทุกอวัยวะ เซลทุกเซล มีเป้าหมายร่วมกัน ขณะที่เซลมะเร็งคือตัวอย่างของเซลที่ทำตัวแยกเป็นเอกเทศ ไม่คำนึงถึงองค์รวม ทำให้ระบบทั้งหมดเสียสมดุล ป่วยและไม่ยั่งยืน ถ้าประเทศไทยสามารถพัฒนาได้แบบองค์รวม มีเป้าหมายสูงสุดแล้วทุกองค์ประกอบของประเทศ มุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดเดียวกัน ประเทศจะลงตัวมีบูรณาภาพและดุลยภาพ
“เราสามารถออกแบบระบบและโครงสร้างของประเทศมันจะเกิดเป็นองค์รวมที่มีคุณสมบัติใหม่ที่มหัศจรรย์ เหมือนเครื่องบินที่มีส่วนประกอบหลายหมื่นชิ้น โดยตัวส่วนประกอบไม่สามารถบินได้ แต่เมื่อประกอบครบเป็นองค์รวม เครื่องบินมีคุณสมบัติใหม่คือบินได้ ระบบและโครงสร้างของสุขภาวะที่สมบูรณ์ คือต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งและต้องพัฒนาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่พัฒนาแบบแยกส่วน”นพ.ประเวศ กล่าว
นพ.ประเวศ ขยายความว่าการออกแบบระบบและโครงสร้างนี้ เหมือนการสร้างบ้าน ถ้าต้องการสร้างบ้านประเทศไทยใหม่ที่น่าอยู่ จะมีโครงสร้าง 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.พื้นล่าง ต้องแข็งแรง 2.ผนังบ้าน คือระบบต่างๆ 8 ระบบ และ 3.หลังคา คือระบบภูมิคุ้มกัน ที่เชื่อมโยงทั้งหมดกับทุกระบบ ในส่วนของพื้นล่าง ก็คือพื้นที่ประเทศทั้งประเทศที่มีการพัฒนาอย่างบูรณาการใน 8 มิติ คือเรื่องเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา ประชาธิปไตย
ขณะที่ในส่วนของผนังมี 8 ด้าน ก็คือ 8 ระบบ ประกอบด้วย ระบบสุขภาพ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบศาสนา ประชาสังคม ระบบรัฐ ระบบการเมือง และระบบสื่อสาร ทั้งหมดนี้ เมื่อผนึกกำลังประกอบเป็นตัวบ้าน จะมีทรัพยากรเพื่อการพัฒนามหาศาล
นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ในส่วนของระบบสุขภาพ เป็นระบบที่มีความพร้อมที่สุด กุญแจสำคัญคือการผนึกกำลังองค์กรตระกูล ส. ทั้ง 8 คือ กระทรวงสาธารณสุข สปสช. สวรส. สช. สสส. สรพ. สพฉ. มสช. หรืออาจจะเรียกเล่นๆ ว่าคณะมนตรีสุขภาพ ตนขอเสนอให้มีการประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเรื่องดีๆ รวมทั้งมีคณะทำงานประสานพลัง 8 คณะ เพื่อเชื่อมโยงกับระบบทั้ง 8 ในการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างบูรณาการ เช่น อาจมีคณะทำงานประสานพลังภาคเศรษกิจ ภาคการศึกษา ภาคการเมือง ฯลฯ เชื่อมไปทุกภาค
นพ.ประเวศ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าประกอบทุกอย่างเป็นแบบนี้ ทุกอย่างจะลงตัว นี่คือการ Synergy สิ่งที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลหรือ สรพ. เสนอประเด็นในประชุมครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เป็น Grand Synergy พลังประเทศไทย โดยมีเป้าหมายคือความปลอดภัยและสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนไทยทั้งประเทศ และตนเชื่อว่าคนไทยมีลักษณะพิเศษ และถ้าผนึกกำลังกันได้ ก็สามารถเป็นชาติแรกที่ทำเรื่องความปลอดภัยและสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนทั้งแผ่นดิน