ยินดีกับ ทีม Railway RMUTT 01 จากสาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ประกอบด้วย นายอนณ เที่ยงบางพลี นางสาวปรียาภัทร เฮ็งประสิทธิ์ นายนนทกร พันธ์แก้ว นายสิรวิชญ์ ศรีมาทร นายภูชิชญ์ ลือลาภ นายภีรภัทร พุดดี นายประพัฒน์ เสืออินโท และนายเจษตวีย์ ศรีจันทร์ยงค์ คว้ารางวัลชนะเลิศ Traction challenge และ Endurance challenge การแข่งขันออกแบบหัวรถจักรไฟฟ้า TRRN Railway Challenge 2024 รอบ Track Based challenge ในการแข่งขัน TRRN RAILWAY CHALLENGE 2024 ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยมี ดร.สถาพร ทองวิค ผศ. ดร. มนูศักดิ์ จานทอง และทีมอาจารย์ เป็นที่ปรึกษา การแข่งขันในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 11 ทีม 10 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี การแข่งขันสร้างรถจักรแสดงแนวคิดการออกแบบ และนวัตกรรมของนักศึกษาที่มีการติดตั้งไว้ในรถจักร Track Test Challenge แบ่งเป็น 7 หัวข้อ ได้แก่ Traction Challenge Noise Challenge Ride Comfort Challenge Reliability Challenge Auto-stop Challenge Energy Consumption Challenge และ Endurance Challenge ซึ่งในแต่ละหัวข้อ จะทำเพื่อทดสอบ จุดเด่น และจุดอ่อน ของแต่ละ Design และเทคนิคในการออกแบบ ที่เกิดขึ้นจริงบนทางรถไฟที่สร้างขึ้นบนพื้นที่กว่า 395 ไร่
นายภูชิชญ์ ลือลาภ เล่าว่า ตัวคนควบคุมรถรางสอดคล้องกับทีมช่าง ทำให้เกิดข้อผิดพลาดน้อย แก้ไขได้ตรงจุด และการออกแบบที่ยึดเกาะทำให้รถมีสมรรถนะดี จังหวะของการขึ้นเนินและลงเนินเป็นไปได้ดี การแข่งขันครั้งนี้ตื่นเต้นมาก ไม่เคยลงแข่งขันทางด้านรถไฟ ซึ่งส่วนตัวรับผิดชอบในส่วนของการดูแลระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการท้าทายตัวเอง สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และทำออกมาดีแค่ไหน
ทางด้านนางสาวปรียาภัทร เฮ็งประสิทธิ์ เล่าว่า เวทีแรกของการเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ได้พบเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย โดยแต่ละทีมมีลักษณะของการออกแบบที่แตกต่างกันออกไป เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการแข่งขันมาใช้ในการเรียนต่อไป สำหรับรางวัลชนะเลิศ ประเภท Endurance challenge จากการสังเกตทางทีมออกแบบหัวรถรางเป็นลูกกระสุน ใช้หลักทางวิศวกรรมเน้นลดแรงต้านจากลม ทำให้รถเคลื่อนได้ดี เร็ว และทำเวลาได้ดี การเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้นอกจากจะใช้ความรู้ที่เรียนในหลักสูตรวิศวกรรมระบบรางมาใช้แล้ว ในสนามแข่งยังเป็นห้องเรียนที่ดีที่ช่วยเสริมการฝึกปฏิบัติ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เป้นการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้อย่างดีมาก