บนรถไฟและสถานี ชี้ควรเร่งพัฒนาการให้บริการเพิ่มความปลอดภัยและการตรงต่อเวลาจะดีกว่าส่งเสริมให้คนเมา พร้อมทวงถามการติดตามช่วยเหลือ ฟื้นฟูสภาพจิตใจครอบครัวเด็กหญิง ที่ถูกพนักงานรถไฟข่มขืนทิ้งศพริมทางเมื่อปี57
เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2567 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หัวลำโพง นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพฯ นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน พร้อมด้วย เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กว่า50 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายจเร รุ่งฐานีย รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อคัดค้านการยกเลิกห้ามขายห้ามดื่มเหล้าเบียร์บนรถไฟและสถานี และทวงถามการติดตามเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจครอบครัวเด็กหญิง คดีถูกพนักงานรถไฟข่มขืนทิ้งศพริมทางรถไฟเมื่อปี57 ทั้งนี้ มีผู้แทนมารับหนังสือและจะรายงานให้รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รับทราบต่อไป
นายเจษฎา กล่าวว่า จากกรณีเด็กหญิงถูกพนักงานรถไฟข่มขืน และทิ้งร่างน้องลงข้างทาง จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ได้กลายเป็นข่าวใหญ่สร้างความสะเทือนใจกับประชาชนทั้งประเทศเหตุเกิดเมื่อสิบปีที่ผ่านมา โดยหลังจากเหตุการณ์เครือข่ายได้ร่วมกันผลักดันให้มีมาตรการห้ามขายห้ามดื่มเหล้าเบียร์บนรถไฟและสถานีรถไฟ จนกระทั่งได้มีกฎหมาย เป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. 2558 ประกาศ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อลดผลกระทบและการเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางด้วยรถไฟ และเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
“เครือข่ายฯ ของพวกเราที่ทำงานรณรงค์ ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึง เฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย ลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง กับกรณี ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2567 ขอให้มีการพิจารณาทบทวน ยกเว้นสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเรื่องนี่ การรถไฟต้องไม่ลืมว่า เคยเกิดเหตุการณ์สลดขึ้น การรถไฟลืมไปแล้วหรือ บทเรียนที่เกิดขึ้นสร้างความเจ็บปวดกับทุกฝ่าย หากปล่อยให้มีการขายการดื่ม เพิ่มคนเมาบนขบวนรถไฟและสถานี ย่อมเพิ่มความเสี่ยง ความไม่ปลอดภัย ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ จนไปถึงการเสียชีวิตย่อมตามมาอีกแน่นอน ” นายเจษฎา กล่าว
นายธีรภัทร์ กล่าวว่า การรถไฟจะคิดง่ายๆแบบนี้ไม่ได้ เราจะตอบครอบครัวของผู้สูญเสียในวันนั้นได้อย่างไร เพราะกฎหมายนี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุร้ายกับน้อง และการทำให้เป็นกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นกับคนอื่นอีกจึงมีความสำคัญมาก ในเรื่องนี้ทางเครือข่ายฯจึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อการรถไฟดังนี้ 1.ขอคัดค้านการยกเลิก ข้อยกเว้นการห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถไฟที่อยู่บนทางรถไฟ ซี่งอาจเกิดปัญหาและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมามากมาย ทั้งความรุนแรง ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ ลวนลาม ข่มขืน เป็นต้น 2.ขอสอบถามความคืบหน้าไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยากรณีของเด็กอายุ 13 ปี ที่ถูกกระทำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ว่ามีการช่วยเหลือติดตาม เยียวยา ตามที่เคยตกลงไว้หรือไม่ ซึ่งรวมไปถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจของครอบครัวผู้เสียหายได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง 3.ขอเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งพัฒนาคุณภาพการบริการ ความปลอดภัยในการใช้รถไฟ ความตรงต่อเวลาของสถานีรถไฟ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการใช้บริการรถไฟมากยิ่งขึ้น มากกว่าการมุ่งจะขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะสร้างผลกระทบตามมาอีกมากมาย และ4. ขอเรียกร้องให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนการตัดสินใจต่อมาตรการนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด