MU Space ไปอวกาศสำเร็จเป็นครั้งที่ 3 ร่วมกับยาน New Shepard จาก Blue origin

บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจการให้บริการเทคโนโลยีดาวเทียมและกิจการอวกาศโดย นายวรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยืนยันความสำเร็จในการส่ง Payload หรือวัตถุที่ส่งขึ้นไปในอวกาศร่วมกับยานอวกาศนิว เชฟเพิร์ด (New Shepard) ของบริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin) สำเร็จ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา

การส่งวัตถุขึ้นไปยังอวกาศ เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ระบบเซนเซอร์รุ่นใหม่ที่มิว สเปซ ได้พัฒนาขึ้น เพื่อทดสอบระบบการวัดค่าสถานะต่างๆ ของตัวจรวด ที่กำลังจะสร้างในอนาคต และอุปกรณ์การทดลองจาก International School of Engineering คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula ISE) โดยเป็นการทดลองเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงสถานะของสาร P25ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง

“การไปอวกาศของเราในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการสร้างความเข้าใจและความตื่นตัว ให้แก่ประชาชนคนทั่วไปภายใต้ความร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อวกาศนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกินเอื้อมหรือห่างไกลอีกต่อไป พร้อมเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านอวกาศมาร่วมกันพัฒนาธุรกิจอวกาศไทยให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น” นายวรายุทธ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ มิว สเปซ กล่าว

เที่ยวบินทดสอบนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งที่ 12 ของ บริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin) ในการทดลองเพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคตสำหรับเที่ยวบินที่มีมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศ โดยได้ทำการส่งขึ้นไปจากพื้นที่ของรัฐ เท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ยานนิว เชฟเพิร์ด (New Shepard) สามารถทำการบินขึ้นไปในแนวดิ่งและ ร่อนลงกลับมาจอดในแนวดิ่ง(Vertical Landing) ตัวยานสามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากกว่า 100 ปอนด์ต่อเที่ยวบิน มีประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 6 คนเพื่อขึ้นไปเหนือพื้นโลกกว่า 100 กิโลเมตรและถือเป็นจุดของเส้นคาร์มัน (Karman line) ซึ่งเป็นเส้นแบ่งระหว่างชั้นบรรยากาศโลกกับอวกาศ

สำหรับ บริษัท มิว สเปซ แอนด์แอดวานซ์เทคโนโลยี จำกัด หรือ มิว สเปช ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม (แบบมีโครงข่ายดาวเทียมเป็นของตนเอง) จากสำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นระยะเวลา 15 ปี ทั้งนี้ มีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เพื่อมอบบริการ การเข้าถึงประสบการณ์ทางอวกาศ การรับส่งสัญญาณประสิทธิภาพสูงผ่านดาวเทียม และให้บริการเต็มรูปแบบ สำหรับการออกแบบการสื่อสารและการใช้งานรับส่งข้อมูลความเร็วสูง สำหรับเมืองอัจฉริยะรวมถึงสนับสนุนกิจการภาครัฐในด้านการรับส่งสัญญาณในระบบดิจิตัลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ให้มีประสิทธิภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างเต็มที่


You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *