พื้นที่เกษตรกรรม 4 ไร่ของทองสุข คงคาหาร เกษตรกรบ้านใหม่ศรีอุบล ตำบลโคกแสมสาร อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี ยังคงงอกงามแม้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนแล้ง
สายน้ำจากลำคลองข้างแปลงเกษตร เป็นน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำวังตะโกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทองสุขจึงใช้เครื่องสูบน้ำดึงมาเก็บกักไว้ในสระน้ำของตนเองที่มีอยู่จำนวน 2 สระ แล้วดึงน้ำผ่านท่อดำไปยังแปลงพืชต่าง ๆ ให้น้ำแก่ต้นพืชในรูปแบบน้ำหยด สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดินและต้นพืชได้อย่างต่อเนื่อง
“แต่เดิมใช้น้ำฝายข้างบน ที่ปล่อยมาตามลำธารแต่น้ำไม่พอใช้ ทำมาหากินไม่สะดวก ก็ลงทุนหาน้ำมาบ้าง เจาะบาดาลบ้าง พอมีอ่างของพระองค์ท่าน ก็ดีใจมากเลย น้ำจะได้ผ่านมาตามลำธารเดิมค่ะ”ทองสุข กล่าว
ทองสุขเดินตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยจัดสรรพื้นที่ 4 ไร่มาปลูกพืชแบบผสมผสาน ทั้งหญ้าเนเปียร์ 1 ไร่ มันสำปะหลังและผักหวาน 1 ไร่ ข้าวโพดกินฝักและมะละกอ 1 ไร่ ส่วนพื้นที่อีก 1 ไร่ เป็นพื้นที่เลี้ยงไก่ไข่และแพะรวมถึงที่พักอาศัย ทองสุข ยังลดการใช้เคมีโดยนำมูลแพะมาทำปุ๋ยบำรุงพืช เป็นการลดรายจ่ายแล้วยังมีรายได้จากการขายผลผลิตเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
“ดูโทรทัศน์ เห็นพระองค์ท่านปลูกหลายอย่างรวมกันจะได้หมุนเวียนกันไป วันนี้มีอย่าง อีกวันมีอย่าง ก็ดีใจทำตามก็มีความสุขค่ะ และดีใจมากที่มีน้ำลงมาผ่านตรงนี้ ก็ทำหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ เพราะพระองค์ท่านทำให้ น้ำไหลไปที่ไหนก็ชุ่มเย็นตรงนั้นค่ะ” ทองสุขกล่าว
โครงการอ่างเก็บน้ำวังตะโกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลโคกแสมสาร อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี ได้ทำหน้าที่บรรเทาทุกข์ให้ชาวโคกแสมสาร ตามที่นายสุพจน์ แก้วพิลา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านใหม่ศรีอุบล ได้ถวายฎีกาขอพระราชทานแหล่งน้ำ
“ตอนนั้นได้คุยกับชาวบ้านถึงสาเหตุที่เกิดภัยแล้ง น้ำฝนมาเยอะ เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมพืชผักแปลงเกษตรของชาวบ้าน ก็ปรึกษากับคณะกรรมการหมู่บ้านว่าจะถวายฎีกา เขียนยังไง ไปถามผู้รู้บอกว่าถ้าเขียนเป็นทางการก็ไม่เหมือนชาวบ้านเดือดร้อนจริง ชาวบ้านก็บอกเราเดือดร้อนจริงคงไม่ผิดมั้ง ก็เขียนไปแบบชาวบ้าน แล้วเปิดกูเกิ้ลหาที่อยู่ ส่งไปสำนักพระราชวังสวนดุสิตและรหัสไปรษณีย์ ส่งไปประมาณอาทิตย์กว่า ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง โทรมาที่ อบต.สอบถามถึงผู้ส่ง ทาง อบต.จึงสอบถามมายังตน แล้วให้เบอร์โทรกับเจ้าหน้าที่ไป ทางสำนักพระราชวังได้โทรมาถามถึงความเดือดร้อน และให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตรวจว่าพื้นที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์หรือไม่ ชลประทานมาสอบถามจุดที่ต้องการให้ก่อสร้าง ตนจึงแนะนำให้สร้างจุดรวมของลำน้ำ 3 สาย จากนั้นก็รอสักพักได้มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง โทรมาบอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับโครงการอ่างเก็บน้ำวังตะโกไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว ตอนนั้นดีใจมากครับได้ประกาศทางไมค์ให้ชาวบ้านทราบ และได้จัดประชุมหมู่บ้านชาวบ้านก็ปลื้มปีติดีใจมากครับ”สุพจน์ กล่าว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังตะโก ตำบลโคกแสมสาร อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563
การบริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำวังตะโกอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อจัดสรรน้ำแล้ว โดยสุพจน์เล่าว่า “ถ้าแล้งก็จะมีกลุ่มผู้ใช้น้ำ ตั้งกลุ่มไว้แล้วว่าเวลานี้จะปลูกข้าวหรือปลูกข้าวโพด ก็จะประชุมกันว่าใครปลูกอะไร จะได้แยกได้ว่าจะปล่อยน้ำให้ชุดไหนก่อน แต่ถ้าเป็นหน้าฝนคือน้ำยังไงก็ล้นจากอ่างเก็บน้ำวังตะโก ก็ล้นลงอ่างตรงนี้ ก็จะปล่อยออกตามคลองส่งน้ำของชลประทานที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้ครับ จากที่ไม่เคยมีน้ำเก็บ เราก็จะมีน้ำจากอ่างเก็บน้ำวังตะโกเก็บไว้ก่อน พอฝนทิ้งช่วงเราก็สามารถเอามาใช้ได้”
ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำวังตะโกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่ฝายบ้านใหม่ศรีอุบล และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่ชุมชนหมู่ที่ 3, 4, 5, 6, 7 และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 300 ครัวเรือน 1,200 คน เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับช่วยเสริมน้ำฝนเพื่อการปลูกพืชไร่ในฤดูฝน 900 ไร่ และช่วงฤดูแล้ง 300 ไร่ และช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด แหล่งท่องเที่ยว ช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรให้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการทำเกษตรกรรม
นายนรินทร์ นิ่มวิญญา ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลพบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำวังตะโกอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ส่งน้ำเข้าสู่ลำน้ำเดิมไปลงอ่างเก็บน้ำบ้านใหม่ศรีอุบล แล้วกระจายน้ำเข้าสู่ระบบพื้นที่การเกษตร
“ในอนาคตได้เตรียมการไว้แล้วว่า ถ้าปริมาณความจุเพียงพอก็จะสนับสนุนพื้นที่เพิ่มเติม เราก็จะวางระบบส่งน้ำด้วยท่อเข้าสู่พื้นที่เกษตรเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับความสามารถและปริมาณน้ำที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ แต่จากการใช้และปริมาณที่สามารถเก็บกักได้ 709,000 ลูกบาศก์เมตร เราก็สามารถจะขยายพื้นที่การเพาะปลูกได้เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ราษฎรมีความมั่นคงในการเพาะปลูกมากขึ้นครับ” นายนรินทร์กล่าว
การสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ทำให้ต้องเสียพื้นที่ป่าด้านเหนืออ่าง กรมป่าไม้จึงเข้าฟื้นฟูผืนป่าร่วมกับราษฎรในพื้นที่ โดยนายอนุชา กันเมือง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า กรมป่าไม้ได้เน้นการรักษาระบบนิเวศเดิมที่เป็นป่าเต็งรัง ซึ่งป่าได้เสื่อมสภาพลงเพราะดินแห้งแล้ง ฝนไม่ค่อยตก หลังจากมีอ่างเก็บน้ำก็จะมีระบบน้ำที่ใช้ในการเพาะกล้าไม้ขยายพันธุ์ได้อุดมสมบูรณ์ขึ้น ก็จะขยายพันธุ์ไม้ถิ่นเดิมเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าต่อไป
“อยากฝากและเชิญชวนให้พ่อแม่พี่น้องช่วยกันป้องกันรักษาป่า ช่วยกันให้ข้อมูล เป็นหูเป็นตา เพราะป่าเองมีความกว้างใหญ่มาก พวกเราในฐานะชาวบ้านก็อาศัยอยู่บริเวณรอบป่าเขาเมื่อเราเข้าไปใช้ประโยชน์ก็อยากฝากให้ใช้อย่างระวัง ใช้อย่าให้หมดไปทีเดียว ช่วยกันปลูกต้นไม้จะได้มีของป่าเก็บใช้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตครับ” นายอนุชากล่าว
พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานอ่างเก็บน้ำวังตะโกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้บรรเทาทุกข์ให้แก่ราษฎรชาวบ้านใหม่ศรีอุบล ได้มีแหล่งน้ำในการทำกินอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี สร้างความมั่นคงทางอาชีพ และสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่าและแหล่งน้ำให้ยั่งยืนตลอดไป