ภาคประชาสังคมจับโกหกกรมทรัพย์สินทางปัญญาด้อยประสิทธิภาพปล่อยผีคำขอสิทธิบัตรกัญชา 12 ฉบับ
ทำชาติเสียหาย สนช.แหยงไม่กล้าพิจารณาในสัปดาห์นี้ หวั่นโดนฟ้องและผลประโยชน์ตกต่างชาติ
วันนี้ (14 พ.ย.61) ภาคประชาสังคม ประกอบไปด้วย มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ และนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ได้แถลงข่าวตอบโต้ข้ออ้างของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ว่าไม่สามารถยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรกัญชาได้ต้องปล่อยให้เป้นไปตามกระบวนการ แต่ไม่ได้หมายความว่าคำขอเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครอง โดยการแถลงข่าวครั้งนี้ ชี้ถึงการทำผิดกฎหมายและกฎกระทรวงของกรมทรัพย์สิน จุดอ่อนในระบบสิทธิบัตรไทย ทัศนคติที่เข้าข้างนักลงทุนไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของสาธารณชน ทั้งที่เป็นหลักการสำคัญของระบบทรัพย์สินทางปัญญาจนทำให้ประเทศชาติเสียหายผู้ป่วยเดือดร้อน ล่าสุดยังพบว่า สนช.เลื่อนพิจารณา พรบ.ยาเสพติดที่อนุญาตให้พืชกัญชาและกระท่อมใช้ในทางการแพทย์ได้ออกไปไม่มีกำหนด เพราะกังวลเรื่องความไม่ชัดเจนของสิทธิบัตรกัญชา
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ชี้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำผิด พรบ.สิทธิบัตร ที่มีขั้นตอนการยกคำขอโดยกรมได้ก่อนการประกาศโฆษณาเมื่อตรวจพบคำขอที่ขัดมาตรา 9 ซึ่งในกรณีกัญชา มีทั้งสารสกัดจากพืช การใช้เพื่อรักษาโรค แล้วอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังมาอ้างว่าไม่สามารถทำได้ โดยอ้างกระบวนการในต่างประเทศ ทั้งที่ผิดมาตรา 9 ทั้งสิ้น และและยังผิดขั้นตอบการรับและตรวจสอบกฏกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ.2542 แต่กรมฯกลับละเลยปล่อยคำขอเหล่านั้นออกมา ซึ่งนี่อาจสะท้อนนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล คสช.ด้วย
“นอกเหนือจากเป็นความบกพร่องของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งประกาศยุทธสาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะใช้ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นรากฐานของการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจชีวภาพ แต่กลับปล่อยประละเลยไม่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้มีรับจดสิทธิบัตรรับคำขอรับสิทธิบัตรซึ่งจะทำลายการต่อยอดนวัตกรรมของประเทศ หรือนี่เป็นเพียงวาทกรรมของรัฐบาลคสช.ที่หวังการลงทุนจากต่างชาติระยะสั้นๆ แทนที่จะมองความเข้มแข็งของประเทศระยะยาว”
ทั้งนี้เมื่อปี 2559 กระทรวงพาณิชย์ และ คสช.มีความพยายามในการออกม.44 เพื่อปล่อยคำขอสิทธิบัตรคงค้างกว่า 12,000 คำขอโดยอ้างว่า ทำให้ประเทศไทยเสื่อมเสียที่ตรวจอสบไม่เร็วพอ ซึ่งถูกคัดค้านว่าจะเป็นการปล่อยผีสิทธิบัตรจนขัดขวางการเข้าถึงยา
ทางด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการเค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเปิดเผยมาทั้งหมดว่าจนถึงขณะนี้มีคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจริงๆ แล้วกี่คำขอฯ รายละเอียดข้อถือสิทธิเป็นเช่นไร ต้องเปิดเผยทั้งหมดต่อสาธารณะ และกรมฯประกาศให้ชัดเจนว่าจะไปดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว ถ้าไม่ทำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ต้องไปดำเนินการเอาผิด ซึ่งในวันอังคารที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ตัวแทนของภาคประชาสังคมจะไปร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะเรียกกรมทรัพย์สินทางปัญญามาเพื่อซักถามเรื่องนี้
“ขณะนี้ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว สนช.ไม่กล้าพิจารณากฎหมายปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคมเสนอให้ องค์การเภสัชกรรม และ มหาวิทยาลัยรังสิตที่มีงานวิจัยและเตรียมขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกัญชา ฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 157 ฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการทำผิดและละเว้นไม่ปฏิบัติตาม พรบ.สิทธิบัตร และกฎกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ.2542 โดยภาคประชาสังคมพร้อมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและความเชี่ยวชาญต่างๆ และขอให้รัฐบาลแสดงความชัดเจนในเรื่องนี้ที่เห็นแก่ประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยการเอาผิดเจ้าหน้าที่และอธิบดีกรมฯ และต้องลงมือปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญา ไม่เช่นนั้นจะถือว่ารัฐบาลเจตนาที่จะให้ต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยหวังเพียงตัวเลขการลงทุนระยะสั้นๆ”
ทางด้าน ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี นักวิชาการด้านระบบทรัพย์สินทางปัญญา และการเข้าถึงยา ชี้ว่า จากกรณีศึกษาเรื่องสิทธิบัตรกัญชานั้น พบว่าตามขั้นตอนการขอรับสิทธิบัตรประเทศไทย จะมีจุดที่เป็นปัญหาและต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาเพื่อให้เกิดกับประเทศไทยหลายขั้นตอน ได้แก่
- ฐานข้อมูลสิทธิบัตร – ตั้งแต่เป็นข่าวสิทธิบัตรกัญชาจะเห็นได้ว่ามีการแถลงพบคำขอสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 9 คำขอฯ เป็น 10-12 คำขอฯ แสดงให้เห็นว่า การที่จะค้นหาข้อมูลเรื่องคำขอรับสิทธิบัตรจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรเป็นเรื่องยากและไม่มีความแน่นอน ซึ่งประเด็นนี้ กรมทรัพย์สินฯ ต้องเปิดเผยมาทั้งหมดว่าจนถึงขณะนี้มีคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจริงๆ แล้วกี่คำขอฯ และต้องเปิดเผยทั้งหมดต่อสาธารณะ
- ขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร
2.1 คำขอรับสิทธิบัตรที่ยื่นต่อกรมทรัพย์สินฯ แล้วแต่ยังไม่ประกาศโฆษณาในหมวดนี้ เนื่องจากคำขอฯ ที่เราสามารถสืบค้นได้จะเป็นเฉพาะคำขอฯ ที่ได้ประกาศโฆษณาแล้ว แต่จากข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาที่เราค้นเจอ พบว่ากรมทรัพย์สินฯ ใช้เวลาที่ยังไม่เปิดเผยคำขอรับสิทธิบัตรนั้น (จากวันที่ยื่นคำขอรับฯ ถึงวันประกาศโฆษณามีตั้งแต่ 2-5 ปี ดังนั้น สาธารณชนหรือแม้แต่นักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่า ยังมีอีกกี่คำขอฯ ที่ได้ยื่นต่อกรมฯ แล้วแต่ยังไม่ได้ยื่นประกาศโฆษณา ดังนั้นจึงขอให้กรมทรัพย์สินฯ เร่งตรวจสอบคำขอฯ ที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมดตามมาตรา 28 พรบ. สิทธิบัตร คือ คำขอฯ นั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้รีบสั่งยกคำขอฯ นั้น ส่วนคำขอฯ ใดที่เห็นว่าถูกต้องในขั้นตอนนี้ ให้รีบประกาศโฆษณาให้สาธารณชนรับทราบ
2.2 คำขอรับสิทธิบัตรที่ได้ประกาศโฆษณาแล้ว จากคำขอฯ ที่ค้นพบ 12 คำขอฯ พบว่าอยู่ระหว่างประกาศโฆษณา 6 คำขอ จึงขอให้อธิบดีปฏิบัติตามมาตรา 30 คือ เมื่อประกาศแล้ว ถ้าคำขอฯ ไม่ชอบด้วยมาตรา 5, 9, 10, 11 หรือ 14 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอสิทธิบัตรนั้น
2.3 คำขอรับสิทธิบัตรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการประดิษฐ์ จากคำขอฯ ที่พบ 12 คำขอฯ พบว่าอยู่ในระหว่างยื่นตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์ 5 คำขอ ขอให้กรมฯ เร่งดำเนินการตามมาตรา 24, 25 ถ้าคำขอฯ ใดไม่มีความใหม่หรือขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น หรือไม่สามารถคุ้มครองได้ตามมาตรา 9 ให้เริ่งยกคำขอฯ นั้น
ทางด้านนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กรณีจดสิทธิบัตรกัญชาเป็นเพียงยอดภูเขาของปัญหาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นตัวอย่างความหย่อนยานและหละหลวมของกรมฯ ที่ปล่อยให้มีคำขอรับสิทธิบัตรและยอมให้จดสิทธิบัตรในสิ่งที่ไม่สมควรได้
ในเรื่องของสิทธิบัตรยามีให้เห็นเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่าง การใช้ยาชนิดหนึ่งเพื้อรักษาโรคชนิดหนึ่งถูกจดและให้สิทธิบัตรเป็นจำนวนมาก เช่นกรณียาต้านไวรัสเอชไอวีและยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ทั้งๆ ที่การใช้ยาเพื่อการรักษาระบุในกฎหมายว่าขอสิทธิบัตรไม่ได้
ระบบฐานข้อมูลและการสืบค้นของกรมฯ มีปัญหาอย่างมาก แม้แต่คนของกรมฯ ที่ดูแลรับผิดชอบเอง ยังต้องใช้เวลาค้นหานานและให้ข้อมูลคาดเคลื่อน กรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น คือ คำขอฯ ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ชื่อย่อว่า TAF มูลนิธิเข้าถึงเอดส์มีจดหมายถามกรมฯ ไปว่ามีการยื่นขอสิทธิบัตรไหม กรมฯ ใช้เวลานานหลายเดือนก่อนที่จะตอบกลับว่า “ไม่มี” แต่มาพบภายหลังว่ามีและเลยกำหนดที่จะยื่นคัดค้านแล้ว
กรณีเช่นนี้สร้างความเสียหายให้กับประเทศ เพราะเปิดช่องให้บริษัทยาผูกขาด โดยอาศัยการยื่นจดสิทธิบัตรที่ด้อยคุณภาพ หรือที่เรียกว่า “สิทธิบัตรไม่มีวันที่สิ้นสุดอายุ” ผ่านระบบการตรวจสอบและคัดกรองที่หย่อนศักยภาพของกรมฯ
กรมฯ มักจะอ้างว่ายังไม่ได้ให้สิทธิบัตรแค่รับยื่นจดฯ แต่กฎหมายระบุว่าการคุ้มครองสิทธิบัตรเกิดขี้นนับตั้งแต่วันยื่นขอจดฯ แม้ในระหว่างรอพิจารณาซึ่งใช้เวล่ไม่ต่ำกว่า 7-8 ปี ใครมาขอจดซ้ำหรือคิดจะผลิต จะถูกบริษัทยาที่ยื่นขอจดคาไว้ขู่จะดำเนินคดี ถ้าเขาได้สิทธิบัตร
การยื่นคำขอฯ แบบกันท่าเช่นนี้ เท่ากับเป็นการกันท่าโดยเอาชีวิตคนป่วยเป็นตัวประกัน กอปรกับระบบที่หย่อนยานในการตรวจสอบและคัดกรอกของกรมฯ ยิ่งทำให้เกิดการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมและยาราคาแพง
ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศสูญเสียงบประมาณากค่ายาแพงเพราะการผูกขาดผ่านสิทธิบัตรยาที่ด้อยคุณภาพ แต่เท่ากับเป็นฆาตกรรมคร่าชีวิตผู้ป่วยทางอ้อมด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น กรมฯ กำลังพยายามแก้ไข พรบ. สิทธิบัตร โดยที่ไม่รับฟังการท้วงติงและข้อเสนอแนะ ที่ภาคประชาสังคมยื่นผ่านการรับฟังความคิดเห็นออนไลน์
ภาคประชาสังคมเสนอให้แก้ไขหลักเกณฑ์การพิจาณาสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ให้มีความรัดกุมและเล็งเห็นประโยชน์ของสาธารณะมากขึ้น รวมไปถึงการขยายเวลาการยื่นคัดค้าน และความโปร่งใสในการพิจารณาสิทธิบัตร
กรมฯ ยังเสนอให้ยกเลิกหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจใช้มาตรการซีแอลให้เหลือเพียงกระทรวง แทนที่จะขยายให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น สปสช. ประกาศใช้ซีแอลได้ ตามที่ภาคประชาสังคมเสนอ
กรมฯ ยังเสนอเพิ่มในร่างกฎหมายให้บริษัทผู้ทรงสิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาล ให้มีคำสั่งยกเลิกมาตรการซีแอลได้ในกรณีที่ภาวะวิกฤตหมดไปแล้วหรือไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่การเปิดช่องไว้เช่นนี้จะยิ่งทำให้รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ หรือชะลอการตัดสินใจนำมาตรการซีแอลมาบังคับใช้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ซึ่งถือเป็นอำนาจบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน
ทางด้าน ผศ.ดร.ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ชี้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญานั้นเริ่มต้นจากหลักคิดที่ผิดเพี้ยนไป สะท้อนจากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอง ที่เห็นว่า การยื่นขอรับสิทธิบัตรเป็นสิทธิที่ผู้ประดิษฐ์พึงจะดำเนินการได้ตามกฎหมายสิทธิบัตร แต่กรมทรัพย์ไม่ได้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองในการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ เนื่องจากระบบสิทธิบัตรมีผลกระทบโดยตรงต่อคนทั้งประเทศ หากกรมทรัพย์ฯตระหนักถึงหน้าที่ต่อสาธารณะก็จะต้องกลั่นกรองคำขอรับสิทธิบัตรในแต่ละขั้นตอนอย่างรอบคอบและใช้วิจารณญาณอย่างเต็มที่ และแม้กฎหมายสิทธิบัตรของไทยอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังมีแนวคิดของการคุ้มครองสาธารณะอยู่ โดยเฉพาะ มาตรา 9 ของกฎหมายสิทธิบัตรนั้นเป็นตะแกรงร่อนเอาคำขอรับสิทธิบัตรที่ไม่ได้รับความคุ้มครองออกไปตั้งแต่ต้น ในขณะที่ผู้มีอำนาจกลับไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และแม้รู้ว่าเป็นข้อผิดพลาดของการปฏิบัติงานก็กลับไม่ใช้อำนาจในการแก้ไขให้ถูกต้อง
ข้อเสนอระยะยาว
- ต้องใช้คู่มือแนวทางการตรวจสอบสิทธิบัตร (patent examination guidelines) ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพัฒนาขึ้นอย่างจริงจัง และต้องอบรมให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรรายใหม่เข้าใจและใช้คู่มือดังกล่าวอย่างจริงจัง
- พิจารณาใช้คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและคำวินิจฉัยอื่นเป็นแนวทางในการอนุมัติสิทธิบัตรที่มีความคล้ายคลึงกัน
3. ต้องมีการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิต่อสิทธิบัตรที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว และดำเนินการเมื่อไม่มีการใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรนั้นๆอย่างแท้จริง
- แก้ไข พรบ.สิทธิบัตรให้คำขอสิทธิบัตรแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ให้มีประกาศกระทรวงฯกำหนดให้การแสดงรายละเอียดนี้ อยู่ในเงื่อนไขการขอสิทธิบัตรเพื่อตรวจสอบความใหม่ และความเชื่อมโยงกับ พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542
- เฝ้าระวังการเจรจาการค้า CPTPP ญี่ปุ่นต้องการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพของไทย ต้องการให้คุ้มครองนักลงทุนเพื่อฟ้องรัฐได้ รัฐบาลต้องไม่ยอมประเด็นเหล่านี้