ย้อนเส้นทางสานต่อศาสตร์พระราชา ผ่านโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที” โดยเอสซีจี

ย้อนเส้นทางสานต่อศาสตร์พระราชา ผ่านโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที” โดยเอสซีจี

ผลสัมฤทธิ์แห่งการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและพลิกฟื้นความเข้มแข็งให้ชุมชน

 

“เพราะน้ำคือชีวิตของทุกสรรพสิ่ง ที่ใดมีน้ำที่นั่นย่อมมีชีวิต…” เอสซีจี จึงได้เดินอยู่บนเส้นทาง
แห่งการบริหารจัดการน้ำร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่ายมากว่า 10 ปี

จุดเริ่มต้นเส้นทางสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งเเวดล้อม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่

เอสซีจี ได้น้อมนำเเนวพระราชดำริ ‘จากภูผาสู่มหานที’ ผสานเเนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาต่อยอดโครงการ “รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” ที่ดำเนินมากว่า 10 ปี ด้วยโครงการ “รักษ์น้ำจากภูผาสู่
มหานที”
ในปี 2561 เพื่อขยายผลการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับเเต่ละพื้นที่ สร้างต้นน้ำที่ดี กลางน้ำที่สมบูรณ์
สู่ปลายน้ำที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ตลอดจนเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น จิตอาสา เเละพนักงาน เพื่อสร้างพลังเเละเชื่อมความรู้การจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

“ฝายชะลอน้ำ” ต้นแบบการพลิกฟื้นพื้นที่ต้นน้ำ

เริ่มต้นจากพื้นที่ต้นน้ำ อ.เเม่ทะ จ.ลำปาง ต้นแบบการพลิกฟื้นพื้นที่ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำแล้งในฤดูเเล้ง น้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก เเละป้องกันไฟไหม้ป่า ก่อนขยายไปยังพื้นที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เมื่อฝายชะลอน้ำช่วยให้น้ำกลับคืนมาสู่พื้นที่ จึงนำไปสู่การสร้างสระพวงเชิงเขา วิธีการกักเก็บน้ำที่ใช้การเชื่อมต่อสระน้ำเป็นพวง ทำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรในพื้นที่ไม่อุ้มน้ำ ชุมชนสามารถเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชแบบใช้น้ำน้อย เช่น ฟักทอง บวบ ถั่วฝักยาว มะระขี้นก ได้มากถึง 7 ครั้งต่อปี เกิดรายได้รวมในชุมชนถึง 18 ล้านบาทต่อปี และยังใช้วิธีการกระจายน้ำในพื้นราบด้วยระบบแก้มลิง ทำให้เกษตรกรนำน้ำไปใช้ในพื้นที่กว่า 500 ไร่ สร้างรายได้กว่า 100,000 บาท / ครัวเรือน / ปี ช่วยให้ชุมชนมีแหล่งน้ำสำรองในฤดูแล้งอีกประมาณ 134,000 ลบ.ม. สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มระบบและพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ไม่เฉพาะภาคเหนือ แต่แนวคิดการสร้างฝายชะลอน้ำยังได้ขยายผลสู่ ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ที่ชุมชน ภาคีเครือข่าย และเอสซีจี ได้ร่วมสร้างฝายเพื่อรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำของลำน้ำสาขาจากเทือกเขานครศรีธรรมราช อันเป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำตรัง ขณะเดียวกัน ก็ได้ส่งต่อแนวคิดไปสู่พื้นที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาพื้นที่แห้งแล้งจากการแผ้วถางป่าสำหรับขยายพื้นที่ทำกิน และหน้าดินที่ถูกชะล้างซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน ฝายชะลอน้ำจึงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือช่วยชะลอน้ำและฟื้นคืนสภาพพื้นที่ให้เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

“ฝายช่วยคืนความสมดุลให้ป่า และป่ายังเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตที่ชุมชนสามารถเข้าไปหาของป่าสำหรับนำมาใช้ทำอาหารให้ครอบครัวและแบ่งขายสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าเพราะการที่ชุมชนช่วยกันลงแรงร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำ จะทำให้ชุมชนของเรามีโอกาสพูดคุย เข้าใจกัน และรักสามัคคีกันมากขึ้น” ผู้ใหญ่ครุฑ นายเต้นยิ้ว วชิรพันธ์วิชาญ ประธานป่าชุมชนบ้านบ้านยางโทน กล่าว

“แก้มลิง” กักเก็บน้ำในพื้นที่กลางน้ำ พลิกฟื้นพื้นที่ทำการเกษตร

สำหรับพื้นที่กลางน้ำ เอสซีจีได้ร่วมกับชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ต้นแบบชุมชนบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขยายการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนสู่บ้านโนนเขวา อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น โดยจัดทำ “แก้มลิง” แหล่งสำรองน้ำจากการขุดลอกหนองน้ำเดิม เพื่อเชื่อมต่อจากแม่น้ำชีไปสู่หนองน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรของชุมชน สำหรับเก็บกักน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมพื้นที่เกษตรได้กว่า 250 ไร่ อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งเลี้ยงปลาเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอย่างน้อยปีละ 30,000 บาท และบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคในครัวเรือน

“บ้านปลาเอสซีจี” ผลสำเร็จในพื้นที่ปลายน้ำ

ทอดยาวไปยังพื้นที่ปลายน้ำ เอสซีจีได้นำท่อ PE100 ที่เหลือจากการขึ้นรูปสำหรับทดสอบเม็ดพลาสติกภายในโรงงานมาใช้ประกอบเป็นบ้านปลา เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพิ่มที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็ก คืนความสมบูรณ์สู่ท้องทะเลไทย โดยปัจจุบันได้วางบ้านปลาลงสู่ใต้ท้องทะเลไปแล้ว 1,600 หลัง ใน จ.ระยอง ชลบุรี และจันทบุรี คิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 40 ตร.กม. เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลของสัตว์น้ำเศรษฐกิจและปลาสวยงามกว่า 172 ชนิด

“หัวใจสำคัญของโครงการตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา คือ ความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้านที่ช่วยกันสร้างบ้านปลา และดูแลพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพลังของจิตอาสาที่ร่วมกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันกว่า 11,500 คน และขณะนี้ เอสซีจียังทดลองนำขยะพลาสติกจากทะเล และชุมชนมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลาตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย” นายชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าว

นอกจากนี้ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ชาวประมงพื้นบ้านบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งประสบปัญหาจากการไม่สามารถออกหาปลาในทะเลช่วงมรสุมได้ เมื่อจะใช้คลองที่อยู่ใกล้ชุมชนเป็นที่ทำกินก็พบว่า ปลามีจำนวนน้อยเพราะขาดแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ เอสซีจีจึงเข้าไปร่วมกับชุมชนพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยใต้ทะเลที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยนำนวัตกรรมปูนงานโครงสร้างทนทานพิเศษ เอสซีจี มาหล่อเป็นบ้านปลาในลักษณะวงกลมที่มีช่องขนาดหลากหลาย เพื่อให้ปลาสามารถว่ายผ่านไปมาได้และสามารถใช้หลบภัยได้เป็นอย่างดี รวมถึงการปลูกป่าโกงกาง และหญ้าทะเล สำหรับช่วยเหลือพะยูนและสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ด้วย

เสริมความแข็งแกร่งให้ชุมชนด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคม

ด้วยความเชี่ยวชาญของเอสซีจี เเละประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการน้ำร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง
ทำให้เอสซีจีมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ จึงได้นำ “นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต” ของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่ผสมผสานเทคโนโลยีซีเมนต์เเละเทคโนโลยีสังเคราะห์ซึ่งมีความเเข็งเเรงและปรับรูปแบบได้ตามต้องการ มาใช้สร้างสระพวงสำหรับกักเก็บน้ำที่บ้านสาแพะ จ.ลำปาง เพื่อแก้ปัญหาดินทรายไม่อุ้มน้ำ

นอกจากนั้น ยังได้มีการใช้ “นวัตกรรมปูนงานโครงสร้างทนทานพิเศษ เอสซีจี” ที่ทนซัลเฟตและคลอไรด์ในน้ำทะเลได้นานกว่าปูนธรรมดา มาหล่อเป็นบ้านปลาสำหรับเป็นแหล่งพักพิงของสัตว์ทะเลในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้รับการรับรองความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังแข็งแรงทนทาน ไม่มีส่วนประกอบที่สามารถแตกหักเสียหายกลายเป็นขยะใต้น้ำได้

ขณะเดียวกันก็ได้นำ “นวัตกรรมบ้านปลาจากท่อ PE100″ ที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกของธุรกิจเคมิคอลส์ ซึ่งได้รับการรับรองความปลอดภัยในการขนส่งน้ำ มาออกแบบสร้างเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลในพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งพบปัญหาจำนวนปลาใกล้ชายฝั่งลดน้อยลง

เครือข่ายพลังคนรุ่นใหม่ จิตอาสาเพื่อความยั่งยืน

ทุกๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี 2561 ไม่เพียงแต่จะมีชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และพนักงานเอสซีจี ร่วมเป็นจิตอาสาสร้างฝายชะลอน้ำและประกอบบ้านปลาเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่ม Young รักษ์น้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จากหลากหลายสถาบันการศึกษากว่า 80 คน ร่วมเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ร่วมกับเอสซีจีในทุกทริป เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดด้านการบริหารจัดการน้ำ และได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตัวเอง รวมทั้งได้ไปชมผลสำเร็จของบริหารจัดการน้ำ ด้วยเชื่อว่าพลังจากคนรุ่นใหม่จะช่วยสืบสาน รักษา และต่อยอดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริให้คงอยู่สืบไป

“ไม่น่าเชื่อว่า การเริ่มต้นทำฝายจากจุดเล็กๆ ด้วยหัวใจของพี่ๆ ในชุมชน และแรงของเพื่อนๆ นักศึกษาจิตอาสา กลับส่งผลให้ป่าทั้งป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง นึกภาพไม่ออกเลยว่าพื้นที่ที่เคยแห้งแล้งและมีปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างไร ถ้าครั้งหน้ามีกิจกรรมนี้อีก จะขอเป็นอีกหนึ่งแรงที่ลงมือช่วยเพื่อประเทศไทยของเรา” นางสาวช่อผกา พจนาสุคนธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หนึ่งในเยาวชนจิตอาสาคนรุ่นใหม่ Young รักษ์น้ำ

ก้าวต่อไปของ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที”

เอสซีจีจะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที” ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2020 ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับชุมชนและจิตอาสา สร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 83,200 ฝาย และจะขยายการสร้างฝายในพื้นที่ต้นน้ำให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศให้ครบ 100,000 ฝาย ขุดสระพวงเชิงเขาส่งต่อน้ำเพื่อทำการเกษตรไปแล้ว 7 สระ โดยมีเป้าหมายจะขุดสระพวงให้ครบ 20 สระ และจัดทำระบบแก้มลิงในพื้นที่กลางน้ำไปแล้ว 8 พื้นที่ โดยตั้งเป้าหมายจะทำให้ครบ 20 พื้นที่ รวมถึงวางบ้านปลาในพื้นที่ปลายน้ำไปแล้ว 1,900 หลัง โดยตั้งเป้าหมายจะวางให้ครบ 2,600 หลัง รวมทั้งเอสซีจีมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมชุมชนให้มีความสามารถในการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตในท้องถิ่นเพื่อสร้างอาชีพและส่งเสริมให้เกิดรายได้ตลอดทั้งปี โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.scg.com/lovewater

ด้วยเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างต้นน้ำที่ดี สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ เอสซีจีจึงยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *