องค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมไทย-จีน ผนึกกำลังพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต มุ่งเพิ่มขีดแข่งขันอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค

การสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” ใหม่ ๆ ซึ่งช่วยตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค รวมถึงช่วยพัฒนาทั้งมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ก้าวไปอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับ “เอสซีจี” ที่ทุ่มงบวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไปกว่า 4,674 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดยเห็นว่าการสร้างความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยเสริมศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรม ให้มีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วภูมิภาคอาเซียนได้อย่างรวดเร็วและตรงจุดยิ่งขึ้น

การร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (China Academy of Sciences – CAS) สถาบันวิทยาศาสตร์ระดับสูงที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเป็นแหล่งกำเนิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำของจีน ผ่านสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน หรือ CAS ICCB จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของเอสซีจี ที่จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์อนาคต รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร และการสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนด้วย

จุดเริ่มต้นความร่วมมือเอสซีจี-สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน  

นายรุ่งโรจน์ รังสิโอภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี และ CAS เริ่มต้นร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่าน CAS ICCB มาตั้งแต่ปี 2561 ด้วยการศึกษาดูงานในสถาบันวิจัยและบริษัทด้านเทคโนโลยี และการสรรหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการในด้านต่าง ๆ มาทดลองเพื่อใช้ต่อยอดในอนาคต ดังนั้น เพื่อต่อยอดความร่วมมือให้เอสซีจีสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่แหล่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำของโลกอย่างจีน ซึ่งจะช่วยยกระดับการสร้างสรรค์นวัตกรรมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งไทยและจีน ตลอดจนคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้

“การร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตอบกลยุทธ์ที่จะนำเอสซีจีไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน เพราะสิ่งหนึ่งที่สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ชัดเจน คือ รายได้จากสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Service – HVA) ของเอสซีจีในปีที่ผ่านมา มีมากถึง 184,965 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 39 ของยอดขายรวม ดังนั้น การที่สถาบันจากจีนซึ่งได้รับการยอมรับด้านงานวิจัยจากทั่วโลกแห่งนี้มาร่วมมือกับเอสซีจี จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมสินค้าและบริการ เพื่อสร้างประโยชน์ให้ทั้งสององค์กร และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อลูกค้าทั้งภูมิภาครวมทั้งไทยด้วย”

ต่อยอดความเชี่ยวชาญจากบุคลากรและเทคโนโลยีชั้นนำของจีน

ดร.เจียง เปียว ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า CAS ICCB เป็นหนึ่งในสำนักงานต่างประเทศ 9 สาขาของ CAS ที่มีบทบาทสำคัญในการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ เพื่อถ่ายทอดผลงานทางวิทยาศาสตร์ของ CAS ที่มีสถาบันวิจัยมากกว่า 100 แห่งในจีน นักวิจัยและทีมงานกว่า 70,000 คน เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ระดับเมธีวิจัยอาวุโสกว่า 800 คน และมหาวิทยาลัยในสังกัด 3 แห่ง จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสานต่อการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงเอสซีจีเข้าสู่แหล่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำของโลก ทั้งจาก CAS และเครือข่ายอื่น ๆ ของเราในประเทศจีน

“ที่ผ่านมาเราสร้างความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางกับองค์กรต่าง ๆ ในไทย ผ่านการร่วมกันวิจัยในระดับทวิภาคี การให้บริการโซลูชัน และการฝึกอบรมบุคลากร จึงเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของทั้งจีนและไทย จากการที่ CAS จะได้มีโอกาสทดลองตลาดนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน ตามแนวทางโครงการเส้นทางสายไหม หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน ขณะเดียวกัน ก็จะนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเอสซีจีและไทย ทั้งด้านการฝึกอบรมบุคลากรและการทำงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เอสซีจีมีงานวิจัยใหม่ ๆ มากกว่าเดิม และมีผลงานนวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น”

5 แนวทางยกระดับการสร้างสรรค์นวัตกรรมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

ความร่วมมือระหว่างเอสซีจี กับ CAS ICCB ดังกล่าวจะมุ่งเน้นใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือ 1.) เมืองอัจฉริยะ 2.) ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ 3.) เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง 4.) ธุรกิจพลังงานใหม่ เช่น พลังงานหมุนเวียน หรือระบบกักเก็บพลังงาน และ 5.) สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจสูง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างหลากหลายทั่วโลก และตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของเอสซีจีได้ในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยประกอบด้วย 5 แนวทางในการสร้างความร่วมมือ ได้แก่

1.) การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ “SCG-CAS ICCB Innovation Hub” โดยพัฒนา Open Innovation Center ของเอสซีจีบางส่วน ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งในการสร้างความร่วมมือกับภายนอก ให้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงานนวัตกรรม การจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ พื้นที่ห้องทดลองเพื่อทำวิจัยและพัฒนา และพื้นที่สำนักงาน ทั้งสำหรับการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่างเอสซีจีกับ CAS และสำหรับนักวิจัยจาก CAS นอกจากนี้ ยังเปิดกว้างสำหรับการบ่มเพาะธุรกิจและการทดลองเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพจากจีนที่มีศักยภาพและสนใจมาทำธุรกิจในอาเซียนร่วมกับเอสซีจี ทั้งในรูปแบบของการให้คำปรึกษา การทำโครงการร่วมกัน หรือการทดลองใช้นวัตกรรมเพื่อขยายตลาด

2.) การนำเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วเบื้องต้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับไทย ผ่านการถ่ายทอดและอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี ทั้งในรูปแบบของการนำเทคโนโลยีที่ CAS หรือเครือข่ายสตาร์ทอัพของ CAS มีอยู่มาประยุกต์ใช้ในด้านอื่นหรือพัฒนาเป็นโซลูชันใหม่ของเอสซีจี และการขออนุญาตใช้สิทธิในเทคโนโลยีหรือทรัพย์สินทางปัญญาของ CAS ที่มีความจำเพาะเพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรมต่อไป เช่น การนำเทคโนโลยี sensor / IoT ของ CAS มาสร้างเป็นโซลูชันต่าง ๆ ของเอสซีจี เช่น Smart building หรือ Plant reliability monitoring เป็นต้น

3.) การร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มธุรกิจของเอสซีจี โดยนักวิจัยจากแต่ละกลุ่มธุรกิจของเอสซีจี กับ CAS

4.) การเป็นแหล่งบ่มเพาะเพื่อพัฒนาบุคลากรของไทยและจีน ผ่านการอบรมเฉพาะทาง การศึกษาขั้นสูง หรือการเรียนในหลักสูตรระยะสั้น ทั้งในรูปแบบของการแบ่งปันความรู้ในหัวข้อเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมด้านต่าง ๆ และการจัดเวิร์คช็อปในเรื่องที่น่าสนใจ โดยผู้เชี่ยวชาญจากเอสซีจี หรือ CAS หรือเครือข่ายความร่วมมืออื่น ๆ

5.) การสร้างความร่วมมือด้านการลงทุน เพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุนในกองทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูงในจีน หรือศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน

นำร่องเทคโนโลยีแห่งอนาคตตอบโจทย์ความต้องการประเทศ

สำหรับโครงการที่จะเห็นผลเร็วที่สุดจากความร่วมมือครั้งนี้ คือ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยนำร่องด้วยการพัฒนาอาคารอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยตอบสนองทั้งเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และการประหยัดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่การก่อสร้างตลอดจนการอยู่อาศัยในอาคาร ต่อมา คือ การพัฒนาเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง สุดท้าย คือ การจัดการพลังงาน ที่มีความต้องการพลังงานสะอาดทั้งในไทยและอาเซียน นอกจากนี้ เรื่องอุตสาหกรรม 4.0 ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเอสซีจีมีศักยภาพและความรู้ด้านนี้ค่อนข้างมาก จึงเป็นเรื่องที่ CAS มองว่าจะสามารถขยายความร่วมมือให้กว้างขึ้นได้

            “เอสซีจีหวังว่าด้วยศักยภาพของทั้งสององค์กรจะสามารถช่วยขยายขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี นวัตกรรมของเราให้ไกลขึ้น รวมทั้งขยายขอบเขตอีโคซิสเท็มในเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาให้กว้างขึ้น ท้ายที่สุด คือ การตอบโจทย์ของลูกค้าในตลาดทั้งไทยและอาเซียนให้ดีขึ้น ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นประโยชน์กับประเทศชาติต่อไป” นายรุ่งโรจน์กล่าวสรุป

            ทั้งหมดนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญของภาคเอกชนไทยและสถาบันด้านการวิจัยชั้นนำของจีน ที่จะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การต่อยอดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจต่าง ๆ ระหว่างไทยและจีนอย่างแท้จริง

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารต่างๆ ของเอสซีจีได้ที่ http://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.