เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 64 ปี ก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวศูนย์ “KMITL Academy of Innovative Semiconductor” (KAISEM) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ที่ครบวงจรแห่งแรกในประเทศ เนื่องในโอกาสครบรอบ 64 ปี ซึ่งศูนย์ KAISEM จะทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการกลาง (Central Laboratory) ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขามาร่วมมือกันในการทำวิจัย นวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งกระบวนการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เซมิคอนดักเตอร์ของไทย ซึ่งเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ และเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาบุคลากร นำ สจล.มุ่งสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก หรือ The Word Master of Innovation อย่างยั่งยืน พร้อมสร้างความร่วมมือกับบริษัท National Instruments Singapore ซึ่งเป็นบริษัทด้านวิศวกรรมชั้นนำระดับโลก ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจของศูนย์ KAISEM ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ บริหารองค์กรอย่างบูรณาการและยั่งยืน มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาตามแนวทาง Global Leaning และ Global Citizen ภายในปี 2569 ส่งเสริมให้เกิดการผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ในพื้นที่ตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายขององค์กรมุ่งการทำงานให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ตัวชี้วัด 5 Global Index ในการขับเคลื่อนงานของสถาบันด้านวิชาการ งานด้านวิจัย และนวัตกรรม งานบริการสังคม ซึ่งประกอบด้วย Global Citizen ที่เน้นหลักสูตรทันสมัย, Global Innovation ยกระดับคุณภาพงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ระดับแนวหน้า, Global Learning สร้างวิทยาเขตชุมพรฯ และพื้นที่สถาบันที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ครบวงจรร่วมกับชุมชนด้านเกษตรอัจฉริยะ, Global Infrastructure สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนและการทำงาน และGlobal Management มุ่งให้มีระบบการบริหารจัดการภายในสถาบันที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยการบริหารงานด้วยข้อมูล โดยแผนบริหารทั้ง 5 Global Index ได้กำหนดกระบวนการที่เรียกว่า KMITL Readiness Level (KRL) มีเป้าหมายในระยะเวลา ปี พ.ศ.2567- 2569
โดยตลอด 64 ปีที่ผ่านมา สจล. ได้สร้างชื่อเสียงในด้านการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ เช่น วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมระบบการผลิต และวิศวกรรมวัสดุ รวมทั้ง สจล. ได้มีการศึกษาวิจัยที่ยาวนานเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบวงจรรวม การพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ หรือการออกแบบแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่ประยุกต์ใช้งานในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำจากทั่วโลก เช่น ไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จึงมีความพร้อมในการที่จะเป็นผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์และจัดตั้งศูนย์ “KMITL Academy of Innovative Semiconductor Manufacturing” (KAISEM) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางและเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาในการก้าวสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยความท้าทายของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เชื่อมโยงภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมเพื่อให้บริการวิชาการที่ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหลักสูตรของภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่พร้อมผลิตบุคลากรคุณภาพรองรับตำแหน่งงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ จากความร่วมมือจากบริษัทชั้นนำกว่า 11 องค์กร ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มีห้องปฏิบัติการด้านเซมิคอนดักเตอร์และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย สนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางการผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทย
นอกจากนี้ คณะยังได้เสนอแนวทางการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน (WIL) ซึ่งช่วยให้บุคลากรพร้อมเข้าสู่ตลาดงานได้ทันทีและลดระยะเวลาในการรอให้กับภาคอุตสาหกรรม ภายในงานการเปิดศูนย์ KAISEM ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันฯ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ บริษัท National Instruments Singapore ซึ่งเป็นบริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ ชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบทดสอบและวัดผลอัตโนมัติ และมีการให้บริการในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อากาศยาน อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม มาช่วยยกระดับการเรียนการสอนและการวิจัยของคณะ ให้ก้าวสู่ระดับสากล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภู ศรีสืบสาย รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สจล. กล่าวว่า ทั้งในอดีตและปัจจุบัน สจล. ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม โดยเป็นผู้ให้บริการงานด้านวิชาการกับทั้งภาครัฐและเอกชนจนเป็นที่ยอบรับมาอย่างยาวนาน รวมทั้งวิทยาลัยฯ เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ มีองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมวัสดุ (Material Engineering) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ การเปิดศูนย์ KAISEM ครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จ ซึ่งในพิธีเปิดศูนย์ยังจัดให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสองฝ่าย โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย การค้นหาและสร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ กลุ่มวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ การเข้าร่วมในโครงการวิศวกรรมเชิงนวัตกรรมของสถาบัน การเข้าร่วมการประชุมวิศวกรรมนานาชาติ เช่น การประชุม IEEE ในโครงการความร่วมมือเฉพาะและจะยืนยันโครงการเหล่านั้นผ่านการสรุปข้อตกลงเพิ่มเติม ซึ่งมีระยะเวลา 12 เดือนนับจากวันที่ลงนาม และจะต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 12 เดือนต่อไป เว้นแต่จะมีการแจ้งยกเลิกโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพล ภคศิริ รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สจล. กล่าวว่า ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย จากไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ที่ศูนย์ KAISEM กำลังดำเนินงานอยู่ จะเป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมงานวิจัยขั้นสูง ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เป็นที่ยอมรับ โดยการสร้าง Central Laboratory ด้านเซมิคอนดักเตอร์ และการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และจะเป็นศูนย์รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ที่จะสร้างงานวิจัยขั้นสูงเกี่ยวกับเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ และ PCB สามารถทำการออกแบบ ทำต้นแบบ และการทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคาร 55 พรรษาฯ มีภารกิจในงานบริการด้านวิชาการ รวมถึงการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาและการฝึกอบรม ทั้งนี้เพื่อให้บริการได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
การก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 ของ สจล. ไม่เพียงแต่เป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จที่ผ่านมา แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย ศูนย์ KAISEM เป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ และเป็นการยืนยันถึงบทบาทของ สจล. ในการเป็น The World Master of Innovation พร้อมนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคใหม่ของนวัตกรรมและเทคโนโลย
ติดตามความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ทาง https://www.facebook.com/kmitlofficial และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th และติดตามรายละเอียดหลักสูตรที่เปิดสอนได้ที่ https://curriculum.kmitl.ac.th/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000