NSM ผนึกกำลัง เอ็กซอนโมบิล เปิดตัว “นิทรรศการปิโตรเคมีปั้นแต่งโลก” ชวนท่องโลกปิโตรเคมีในชีวิตประจำวัน สะท้อนแนวทางสู่การจัดการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM พร้อมด้วย นางสุดา นิลวรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด เป็นประธานเปิดนิทรรศการปิโตรเคมีปั้นแต่งโลก (Petrosculpt: Petrochemical Sculpting the World) ชวนเพลิดเพลินไปกับการเรียนรู้ถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ที่มาช่วยสร้างความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งสะท้อนได้เห็นถึงแนวทางการจัดการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอย่างยั่งยืน จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 25 สิงหาคม 2567 ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ที่ Hall 11 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.NSM กล่าวว่า “NSM ร่วมกับ บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด พัฒนานิทรรศการปิโตรเคมีปั้นแต่งโลก (Petrosculpt: Petrochemical Sculpting the World) ขึ้น เพื่อนำมา จัดแสดงให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้มาเรียนรู้ถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ที่มาช่วยสร้างความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งสะท้อนได้เห็นถึงแนวทางการจัดการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอย่างยั่งยืน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนที่สามารถเรียนรู้แนวทางการจัดการขยะเหล่านี้ให้สามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียนในระบบการผลิตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งความร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. ที่ว่า “เอกชนนำ-รัฐสนับสนุน” โดยมุ่งเน้นให้หน่วยงาน อว. ได้สร้างความร่วมมือโดยเฉพาะกับหน่วยงานภาคเอกชนที่จะมาร่วมประสานพลังความร่วมมือกันส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างแข็งแกร่ง นิทรรศการชุดนี้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญ ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและความสนุกสนานด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนและประชาชนได้เรียนรู้ผ่านเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เพื่อให้ทุกคนช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างแท้จริง”

นางสุดา นิลวรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด กล่าวว่า “บริษัทในเครือ เอ็กซอนโมบิลในประเทศไทย ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยมาตลอดระยะเวลากว่า 130 ปี ด้วยผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงโมเลกุล นับจากน้ำมันก๊าด ไปสู่น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น และปิโตรเคมี พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศ เรายังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเยาวชนไทยในด้าน STEM ด้วยการมอบโอกาสด้านการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนและสังคมมาโดยตลอด ที่ผ่านมาเราสนับสนันกิจกรรมการเรียนรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ของ อพวช. มาอย่างต่อเนื่อง ในการกระจายโอกาสการเรียนรู้ในกลุ่มเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. และสนับสนุนคอลัมน์ Science in Movie ใน NSM SCIENCE MAGAZINE สื่อการเรียนรู้ของ อพวช. รวมทั้งยังเป็นหน่วยงานผู้สนับสนุนในการจัดกิจกรรมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน (ASPC 2024) ที่จัดขึ้นที่ อพวช. เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งความร่วมมือในการพัฒนานิทรรศการชุดใหม่นี้ จะสามารถถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ผลิตจากปิโตรเคมีให้กับทุกคนในสังคมตระหนักถึงการจัดการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งนำเสนอแนวทางการใช้ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมีและการจัดการขยะจากผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมีอย่างเหมาะสมและยั่งยืน”

“นิทรรศการปิโตรเคมีปั้นแต่งโลก” จัดแสดงออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 ปิโตรเคมีภัณฑ์รอบตัว : นำเสนอความสำคัญของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีต่อมนุษย์ โดยเฉพาะกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอย่างมากมายในทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ โซนที่ 2 Broadcasting Station : เรียนรู้การจัดการเพื่อการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอย่างยั่งยืน และการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพื่อการใช้งานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ และโซนที่ 3 ลาน Think! (ไม่ทิ้ง ปิโตรเคมี) : เรียนรู้การจัดการตลอดทั้งกระบวนการของการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืน สนุกไปกับกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ กิจกรรม “รู้รัก(ษ์)พันธุ์พืชด้วยพลาสติก” และกิจกรรม “บิงโกปิโตรเคมี 24 hr.”

โดยนิทรรศการชุดนี้จะจัดแสดงภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ตั้งแต่วันนี้ – 25 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 – 19.00 น. ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี และจะถูกนำไปจัดแสดงต่อที่ศูนย์พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *