หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ และหลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแสดงผลงานการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมนอกห้องเรียน ตลอดจนสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมโดยชุมชน กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมของนิสิตทั้ง 2 มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.เกรียงไกร วัฒนาสวัสดิ์ และ อ.ดร.กษิด์เดช เนื่องจำนงค์ อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาเป็นผู้เริ่มให้เกิดโครงการดังกล่าว
สำหรับ 4 โครงการการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมจัดขึ้นตามหัวเรื่อง ดังนี้
- โครงการ “Unseen Gems of Kudee Khao : เสน่ห์ซ่อนเร้นแห่งกุฎีขาว” ประกอบไปด้วยกิจกรรมย่อยคือ 1) นิทรรศการ “กลับสู่ดิน” บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อโลกหลังความตายถ่ายทอดผ่าน “กุโบร์” สุสานของชาวมุสลิม 2) กิจกรรมเวิร์กช็อปทำบุหงารำไป (ถุงดอกไม้หอม) ที่สร้างแรงบันดาลใจมาจากลวดลายของมัสยิดบางหลวงอันวิจิตรงดงาม 3) การเยี่ยมชมมัสยิดบางหลวงสถาปัตยกรรมทรงไทยแห่งเดียวในโลก เรียนรู้เรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมผ่านมุมมองของคนในชุมชน และ 4) กัมปงอาหารแห่งชุมชนกุฎีขาวที่ผู้เยี่ยมชมจะได้ลิ้มรสอาหารและขนมโบราณที่สืบทอดสูตรลับกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
- โครงการ “我喜花你 : Lost in Talad Noi” ประกอบด้วยกิจกรรมย่อยคือ 1) กิจกรรมเวิร์กช็อปประดิษฐ์กำไลข้อมือที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเศษเหล็ก “เซียงกง” นำมาเรียงร้อยด้วยลูกปัดสีสันตระการตา และ 2) กิจกรรมระบายสีพัดกระดาษรังสรรค์จากลวดลายประดิษฐ์จากหมอนไหว้เจ้าซึ่งเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นของชุมชนย่านตลาดน้อย
- โครงการ “เสน่ห์วาริน งามศิลป์ ถิ่นสามเสน” ประกอบด้วยกิจกรรมย่อยคือ 1) นิทรรศยลมรดกวัฒนธรรมย่านสามเสน 2) กิจกรรมเวิร์กช็อปหล่อเศษเทียนเป็นงานศิลปะสร้างสรรค์ “หนึ่งแสงสว่าง 3 วัฒนธรรม” และ 3) กิจกรรมเวิร์กช็อประบายสีถุงผ้า “ศิลป์ถิ่นวัฒนธรรม” โดยกิจกรรมนี้ได้สำรวจความงดงามของทรัพยากรวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และอัตลักษณ์เฉพาะตัว
- โครงการ “Secret of Loeng (ความลับแห่งนางเลิ้ง) ประกอบไปด้วยกิจกรรมย่อยคือ 1) นิทรรศการ Secret of Loeng ทรัพยากรวัฒนธรรมย่านนางเลิ้ง 2) กิจกรรมเวิร์คช็อปปิ่นปักผมแป้งพวง และ 3) กิจกรรมเวิร์กช็อปการรังสรรค์อุบะจากดอกไม้ประดิษฐ์สดและดอกไม้สด
ความร่วมมือในการจัดเรียนการสอนของรายวิชาดังกล่าวจาก 2 มหาวิทยาลัยนับเป็นการจุดประกายและสร้าง “ต้นกล้า” นักจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม สนองต่อนโยบายรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริม “ทักษะ” การเรียนรู้มากกว่าองค์ความรู้ทางวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว รวมถึงการเสริมสร้างให้ชุมชนและนักศึกษาได้ตระหนักเห็นคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรวัฒนธรรมของชุมชนผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็น “ต้นแบบ” ด้านการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม อันนำไปสู่การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมในมิติด้านต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนต่อไป