ม.วลัยลักษณ์ เผยผลประเมินคุณภาพการศึกษาได้ระดับดีมาก

ม.วลัยลักษณ์ เผยผลประเมินคุณภาพการศึกษา

ได้ระดับดีมาก คะแนน 4.66 จากคะแนนเต็ม 5

 

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยผลการประเมินคุณภาพการศึกษา ระดับมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2560 พบว่า โดยภาพรวมของมหาวิทยาลัย มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.66 ในระดับดีมาก จากผลการประเมินทั้ง 5 องค์ประกอบ จำนวน 13 ตัวบ่งชี้

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับมหาวิทยาลัยตามระบบของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการศึกษา 2560 ผลการประเมินโดยภาพรวมของมหาวิทยาลัย มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.66 ในระดับดีมาก ซึ่งองค์ประกอบที่มีผลการประเมินในระดับดีมาก ได้ 5 คะแนนเต็ม คือ การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม รองลงมา ได้แก่ การวิจัย (4.86 คะแนน) และการบริหารจัดการ (4.83 คะแนน) ส่วนองค์ประกอบด้านการผลิตบัณฑิตอยู่ในระดับดี ที่ค่าคะแนนเฉลี่ย 4.30 คะแนน

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าวต่อว่า แม้ว่าคะแนนด้านการผลิตบัณฑิตจะอยู่ในระดับดี แต่มหาวิทยาลัยก็มีการผลิตบัณฑิตอย่างเข้มข้นมากขึ้น อาทิ การพัฒนาการเรียนการสอนในรูปแบบ UKPSF โดยมีอาจารย์ที่ได้รับการรับรองทั้งในระดับ Senior Fellow และ Fellow จำนวน 6 คน ควบคู่ไปกับการใช้ Smart Classroom มีการพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา และเตรียมความพร้อมของนักศึกษาในการเข้าสู่สหกิจศึกษาและการประกอบอาชีพอย่างเป็นระบบ ในส่วนของการวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีวารสารเพื่อเผยแพร่งานวิจัย จำนวน 5 วารสาร ทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดย Walailak Journal Science and Technology อยู่ในฐานข้อมูล Scopus Quartile 2

ด้านการบริหารจัดการ คณะกรรมการมีความเห็นว่า ผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัย มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างก้าวกระโดดและเข้าสู่ระดับสากล โดยจัดทำและพัฒนาหลักสูตรนานาชาติเพิ่มขึ้น รวมทั้งจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้น ที่สำคัญคือการสร้างความสุขในการเรียนให้กับนักศึกษา รวมทั้งพัฒนาการเรียนการสอนของอาจารย์ตามกรอบมาตรฐาน UKPSF นอกจากนี้ยังส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ให้มีคุณวุฒิสูงขึ้น มีแนวปฏิบัติและขั้นตอนการขอตำแหน่งทางวิชาการที่ชัดเจน สามารถลดเวลาในการดำเนินการ ทำให้มีจำนวนอาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านการบริการวิชาการ ที่ได้ 5 คะแนนเต็ม เนื่องจากทุกสำนักวิชาให้ความสำคัญกับงานบริการวิชาการแก่สังคม ตั้งแต่การถ่ายทอด การใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ยกระดับอาชีพ การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม และมีการติดตามการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังพัฒนาชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ส่วนการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ที่ได้ 5 คะแนนเต็มเช่นกัน เพราะมีแผนการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมที่กำหนดวัตถุประสงค์ ตัวบ่งชี้ ภารกิจการติดตาม การประเมิน การนำผลการประเมินไปปรับปรุง และมีการจัดทำคู่มือมาตรฐานการถ่ายทอดศิลปะการรำมโนราห์อีกด้วย

ในปีการศึกษา 2561 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังคงประเมินคุณภาพการศึกษา ตามระบบของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาต่ออีก 1 ปี พร้อมพัฒนาระบบ ASEAN University Network Quality Assurance (AUN QA) เพื่อนำมาใช้สำหรับการประเมินคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษา 2562 ทั้งในระดับหลักสูตร สำนักวิชาและมหาวิทยาลัย และหากมีความพร้อมมหาวิทยาลัยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก AUN QA และเข้ารับการประเมิน เพื่อก้าวไปสู่การประเมินในระดับนานาชาติต่อไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า มหาวิทยาลัยลัยลักษณ์จะเป็นมหาวิทยาลัย “แห่งคุณภาพ” ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าวในตอนท้าย

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *