มทร.ธัญบุรี สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ และมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี พัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจ ให้นักศึกษา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้รับโอกาสและกิจกรรมดีๆในการพัฒนานักศึกษาจากสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจของเยาวชน เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทน อธิการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า ตามที่ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจของเยาวชน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้ทักษะการคิดวิเคราะห์-ตัดสินใจ ความเป็นผู้นำ ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม คุณธรรมจริยธรรมของอาชีพ ฝึกออกแบบไอเดียด้านนวัตกรรม สำหรับปรับปรุงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตร โดยได้รับความสนใจจากนักศึกษา 11 คณะ 1 วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยเข้าร่วม 100 คน

นางศรีศักดิ์ ไทยอารี
ผู้อำนวยการสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ

นางศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ เล่าว่า  สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ ทำหน้าที่ในการคิดค้นกระบวนการในการพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข ซึ่งเมื่อ 3 – 4 ปีที่ผ่านมีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดย 3 เรื่องที่สำคัญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม คือ 1.การก้าวหน้าและก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสมัยใหม่ 2. สังคมผู้สูงอายุ 3. เข้าสู่ประชาคมอาเซียน เกิดการแข่งขันสู่ตลาดแรงงานที่สูงขึ้น สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจของเยาวชน จัดขึ้น โดยเป็นการรวมองค์ความรู้ในเรื่องของการฝึกอาชีพ วินัยทางด้านการเงิน ในส่วนของกระบวนการในการจัดการเงิน ไอที การอบรมเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Excel Dashboards and Reports ,Python สำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และทักษะชีวิต ในการทำงานเป็นทีม การเป็นผู้นำ และการมีมนุษย์พันธ์กับผู้อื่น  เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาออกจากมหาวิทยาลัยสู่ตลาดแรงงานเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพต่อไป

นายอภิชาต หวั่งหลี
กรรมการมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี

ทางด้าน นายอภิชาต หวั่งหลี กรรมการมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี เล่าว่า ทางมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี ให้ความสำคัญในด้านการศึกษาของเยาวชน โดยทางมูลนิธิให้ทุนการศึกษาสนับสนุนนักศึกษามาโดยตลอด สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่มีประโยชน์ที่สามารถพัฒนาศักยภาพเยาวชน เตรียมความพร้อมของเยาวชน เข้าสู่อาเซียน ซึ่งในการเข้าสู่อาเซียน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ ตลาดการค้ากว้างขึ้น แต่ข้อเสีย ถ้าคนไทยไม่มีความพร้อมอาจจะแพ้ประเทศต่างๆ ในอาเซียนตลอดประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่สิ่งนี้สามารถแก้ไขโดยการเตรียมความพร้อมพัฒนาศักยภาพเยาวชน ไม่ว่าจะในเรื่องของภาษาอังกฤษ ความรู้ในเรื่องไอที เทคนิคระดับสูงต่างๆ วินัยทางการเงิน ตลอดจนทักษะชีวิต เป็นสิ่งที่ดีมาก สำหรับกิจกรรมในเปิดบริษัทให้นักศึกษาเข้าศึกษาดูงานบริษัท SMS และบริษัทสิทธิ์นันท์ (กลุ่มบริษัทพูลผล) นักศึกษาได้เห็นถึงกระบวนการในการทำงาน ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำงาน ได้เรียนรู้ทักษะในการทำงานของฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายการตลาด วิศวกร นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และเตรียมตัวก่อนออกตลาดแรงงานในอนาคต

นายธนบดี สุขศรีแก้ว
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์

                “แตมป์” นายธนบดี สุขศรีแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า อยากเข้าร่วมกิจกรรมที่ฝึกประสบการณ์การเป็นผู้นำ 4 วันที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมได้รู้จักเพื่อนต่างคณะได้ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่ม ลงพื้นที่ในการฝึก Work shop ที่บริษัท SMS และบริษัทสิทธิ์นันท์ (กลุ่มบริษัทพูลผล) เป็นโรงงานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแป้งและการทำวุ้นเส้น ได้เรียนรู้กระบวนการในการผลิตแต่ละขั้นตอนและได้สัมภาษณ์การทำงานของพี่ๆ พนักงานในโรงงาน นอกจากนี้ยังได้เห็นระบบเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม โครงการนี้ทำให้ตนเองกล้าแสดงออก กล้าที่จะคิดที่จะทำและฝึกการเป็นผู้นำ

นางสาวธัญดา ทองเชื้อ
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์

                “ส้มโอ”นางสาวธัญดา ทองเชื้อ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า อยากนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการเรียน หาความรู้นอกห้องเรียน “เรียนรู้เรื่องการเงินและการวางแผนตั้งเป้าหมายในอนาคต” ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนต่างสาขาและต่างคณะ แต่ละคนมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน จากการสัมภาษณ์และเข้า Work shop ในบริษัทตนเองและเพื่อนในกลุ่มเสนอไอเดียบรรจุภัณฑ์วุ้นเส้น เพื่อความสะดวกในการบรรจุ  ทำให้เส้นวุ้นเส้นไม่เสียหายขณะที่บรรจุ ความรู้ที่ได้สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานในอนาคต

นางสาวอรวรรณ สรรเพชุดา
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์

                “กี้” นางสาวอรวรรณ สรรเพชุดา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า เมื่อเห็นชื่อโครงการมีความสนใจ อยากได้รับความรู้ทางด้านทักษะในการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก ได้เยี่ยมชมโรงงานวุ่นเส้นและแป้ง ตรงกับสายงานที่เรียน ได้รู้ขั้นตอนในการผลิตแป้งแต่ละชนิด เรียนรู้ระบบการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และนำความรู้ที่ได้มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง  

“ปังปอนด์” นายศุภกิตติ์ เศษรักษา
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์

                “ปังปอนด์” นายศุภกิตติ์ เศษรักษา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า ชื่อโครงการสอดคล้องกับสาขาวิชาที่เรียนจึงเข้าร่วมกิจกรรม โครงการนี้สอนในเรื่องของการทำงาน ลำดับการทำงาน การทำงานที่มีระบบ การทำงานร่วมกับคนอื่น และเรื่องของการมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน และประสบการณ์การทำงานในโรงงานของพี่ๆ ที่สะท้อนให้ฟัง

นายเทวิน จันทร์แจ่มดารา
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์

                “เจ” นายเทวิน จันทร์แจ่มดารา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า สำหรับตนเองได้ฝึกคิดฝึกการทำงานเป็นทีม นำไปปรับใช้ ในส่วนของการทำงานกลุ่ม ครั้งแรกที่ได้เข้าดูงานในโรงงาน ทั้งระบบการทำงาน การแบ่งหน้าที่ ที่สำคัญสอนในเรื่องการวางแผนการใช้เงินในชีวิตประจำวัน ในส่วนของการออมเงิน และนำเงินไปลงทุนในอนาคต  

นายพชร ภาคอินทรีย์
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

                “เพชร” นายพชร ภาคอินทรีย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า ได้เข้าศึกษากระบวนการการทำงานในโรงงาน นำกระบวนการคิด วิธีการนำเสนองาน ดูระบบสารสนเทศในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานในการเรียนในมหาวิทยาลัย สอนเรื่องของการใช้เงินในชีวิตประจำวัน การบริหารเงินการออมเงินและการลงทุนต่างๆ

                ความรู้และทักษะที่นักศึกษาได้รับจากโครงการพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจของเยาวชน นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและเตรียมความพร้อมสู่การทำงานในสถานประกอบการในอนาคต การวางแผนและการเตรียมพร้อมนำไปสู่ความสำเร็จ

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *