2 นักศึกษาวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับรางวัลชนะเลิศ 2019 Asia-Pacific Dental Academic Excellence Competition (APDAX) ในงาน The 46th APDSA Annual Congress 2019 โดยครั้งนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
นักศึกษาทันตแพทย์ นัทชา วชิรเดชา และนักศึกษาทันตแพทย์ ฐิติกา ไทรสังขโกมล เป็นตัวแทนวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เข้าร่วมแข่งขันตอบคำถามในรายการ 2019 Asia-Pacific Dental Academic Excellence Competition ในงาน The 46th APDSA Annual Congress 2019 ของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยทั้งคู่ได้รับรางวัลชนะเลิศ
นักศึกษาทันตแพทย์ ฐิติกา ไทรสังขโกมล (คริสตัล) นักศึกษาชั้นปีที่ 6 วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าถึงบรรยากาศในวันแข่งขันว่า “การแข่งขันมีหลายรอบมากค่ะ กว่าจะถึงรอบ 15 ทีมสุดท้าย ในรอบแรกจะเป็นการสอบแยกก่อน โดยส่วนใหญ่คำถามจะเป็นกรณีศึกษาทั้งหมด พอเข้ามาถึงรอบ 15 ทีมรู้สึกตื่นเต้นมากค่ะ เพราะมีการไลฟ์ในเฟซบุ๊ก แล้วยังต้องตอบคำถามภายในเวลาที่จำกัด คล้ายๆ กับเกมโชว์ ทำให้เราตื่นเต้นและกดดันค่ะ”
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ทำให้ทั้งสองคนได้รางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน นางสาวฐิติกา กล่าวว่า “สิ่งที่คริสรู้สึกว่าเป็นข้อดีอย่างมากที่เราได้เรียนที่ม.รังสิต คือ คลินิกเราเป็น Comprehensive Care (การดูแลผสมผสานทุกปัญหา) ซึ่งคนไข้หนึ่งคนจะอยู่ในความดูแลของเราตั้งแต่ต้นจนจบเลยค่ะ มีการวางแผนว่าจะดูแลรักษาเขาอย่างไร ต้องปรึกษาอาจารย์ในหลายๆ ด้าน เวลาเรามองกรณีศึกษา หรือตอบคำถามในการแข่งขัน ทำให้เรามองเห็นเป็นองค์รวมได้มากกว่ามองเป็นจุดๆ ค่ะ”
ที่ผ่านมา คริสตัล เคยเป็นประธานรุ่นของนักศึกษาทันตแพทย์ และอย่างที่ทราบกันดีกว่าการเรียนการสอนของวิทยาลัยทันตแพทย์นั้นค่อนข้างเข้มข้น ซึ่งคริสได้เปิดเผยถึงเคล็บลับในการแบ่งเวลาระหว่างการเรียนและการทำกิจกรรมให้ลงตัวว่า “สำหรับคริสทุกอย่างจะเป็นระบบ มีจดทุกอย่างว่าวันนี้เราต้องทำอะไร พรุ่งนี้ต้องเตรียมอะไร ทุกวันเราอาจจะทำอะไรไม่เหมือนกัน แต่ก็ต้องมีระบบของมัน ที่สำคัญคือ เรารู้ตัวเองว่าเวลาไหนต้องทำอะไร วางแผนและจัดการเวลา เพราะแต่ละคนมีลักษณะการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน ก็ต้องหาวิธีที่เหมาะกับตัวเองให้เจอค่ะ”
ด้าน นักศึกษาทันตแพทย์ นัทชา วชิรเดชา (ทราย) นักศึกษาชั้นปีที่ 6 วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับบรรยากาศของการแข่งขันว่า ในรอบ 3 ทีมสุดท้ายนั้นเป็นการแข่งขันแบบจำลองสถานการณ์จริง ที่มีคนไข้จริงๆ มาให้เราได้ซักประวัติเอง เลือกตรวจแบบเฉพาะเอง เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งเราต้องวางแผน ไม่ใช่แค่ความรู้ด้านวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ ไหวพริบ และความรอบคอบค่ะ
“สิ่งที่เป็นจุดแข็งที่ทำให้ทีมของมหาวิทยาลัยรังสิตชนะการแข่งขันครั้งนี้ อาจเป็นเพราะการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรังสิตค่อนข้างเข้มข้น อาจารย์จะย้ำในส่วนที่ต้องนำไปใช้จริงบ่อยมาก ทำให้เรามีความละเอียด”
ทราย เป็นอดีตประธานสโมสรนักศึกษา ผู้นำเชียร์วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ รุ่นที่ 10 และปัจจุบันเป็นประธานรุ่นของนักศึกษาทันตแพทย์ ก็ได้แบ่งปันเทคนิคการเรียนและแบ่งเวลาในการทำกิจกรรมไว้ด้วยว่า “เราต้องคิดก่อนว่า ณ ตอนนี้อะไรสำคัญที่สุด ต้องมีการวางแผนว่าเป้าหมายของเราตอนนี้คืออะไร อย่างทราย จะเอาการเรียนไว้อันดับ 1 แต่เราก็เป็นคนชอบทำกิจกรรมด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจนว่า ถ้าตอนนี้เรียนต้องเรียน ถ้าทำกิจกรรมก็ทำกิจกรรม เรามีหน้าที่อะไร ณ เวลานั้นก็ทำให้เต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดค่ะ”