มูลนิธิชัยพัฒนา โดยโครงการศึกษาวิจัยสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมไทย ผนึกกำลังเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 10 หรือ 10th World Environmental Education Congress (WEEC2019) ระหว่างวัน 3-7 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการของผู้เข้าร่วมประชุม นักวิชาการจากทั่วโลก และปราชญ์ท้องถิ่น ตลอดจนเยาวชนในประเทศที่กำลังพัฒนาได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันกำหนดวิธีการที่จะจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานประชุม WEEC2019 เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในสังคม โดยต้องยอมรับว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ทั้งนี้การปลูกฝังจิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะต้องเกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม
ดร.สุเมธกล่าวว่า สืบเนื่องจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยได้พระราชาทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนา ภายใต้การดำเนินงานของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าร่วมจัดการประชุมนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา World Environmental Education Congress ครั้งที่ 10 โดยมุ่งหวังว่าการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีทางธรรมชาติ ช่วยธรรมชาติผ่านเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ จะเป็นหนึ่งในการจุดประกายให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อยอดความรู้ในอนาคต
ดร.สุเมธระบุว่า การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน อาทิ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันโลกร้อนศึกษาโดยมูลนิธินภามิตร สำนักงานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษาโลก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน รวมถึง ส่วนงานภาครัฐบาลและเอกชนที่ได้ให้การสนับสนุน ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) C Asean บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรีจํากัด (มหาชน) บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท็อปกัน จำกัด ภายใต้การอำนวยการจัดงานประชุมโดย บริษัท เอ็น.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นเนล อีเว้นท์ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์วิชาการทางสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การหาแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการและร่วมกันหาแนวทางจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับ ภูมิภาคและระดับโลก ภายใต้หัวข้อ “Local Knowledge, Communication and Global Connectivity”
ประธานคณะกรรมการจัดงานประชุม WEEC2019 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ยังมุ่งหวังการสร้างความร่วมมือทางวิชาการของผู้เข้าร่วมประชุม นักวิชาการจากทั่วโลก และปราชญ์ท้องถิ่น ตลอดจนเยาวชนในประเทศที่กำลังพัฒนาได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันกำหนดวิธีการที่จะจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้สิ่งแวดล้อมผ่านรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายไปยังกลุ่มเป้าหมายทั่วโลก เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ร่วมกันกำหนดขึ้นจะได้รับการเผยแพร่ไปยังผู้ปฏิบัติการ ผู้บริหารและนักวางแผน ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกจะได้เยี่ยมชมเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งทรงคุณค่าสำหรับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเป็นการเผยแผ่พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนไปยังนานาอารยประเทศ
ดร.สุเมธกล่าวว่า ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมของโลกในปัจจุบันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งก่อให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ และการเกิดผลกระทบทางอ้อมอันมีสาเหตุมาจากภัยพิบัติธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมโลกทำให้เกิดการขับเคลื่อนในการสร้างนโยบาย มาตรการ และแผนงานในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม การประชุมด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในครั้งนี้ ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับกิจกรรมของมนุษย์ การควบคุมกิจกรรมของมนุษย์ผ่านกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา ถือกำเนิดมาจากพลังขับเคลื่อนของมนุษย์ในทุกระดับตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน สังคม ประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีในการถ่ายทอดความรู้สิ่งแวดล้อมไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความตระหนัก จิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะปัจเจกละภาคเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์วิชาการทางสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การหาแนวทางในการจัดการการเปลี่ยนแปลงของโลกและสภาพภูมิอากาศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานประชุม WEEC2019 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงานมีกำหนดระยะเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 3-7 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องภิรัช 1-3 และแอมเบอร์ 1-4 ศูนย์นิทรรศการและการ ประชุมไบเทค บางนา จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมในแต่ละวันมีรายละเอียดประกอบไปด้วย การประชุมวิชาการ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. Plenary Hall ซึ่งมี การประชุมหัวข้อหลัก (Plenary Session) กับ Panel Discussion และ 2. Breakout Session ซึ่งประกอบไปด้วย Oral Presentation, Round Table Session, Workshop และ Side Events ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก UNEP และ UNESCO ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 4 วัน โดยมีกิจกรรมคือ ปาฐกถาพิเศษ (Keynote Speech) จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล
ผศ.ดร.สุรัตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังจะมีการจัดแสดงนิทรรศการ (Exhibition) การจากองค์กรชั้นนำของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบไปด้วยนิทรรศการวิชาการ เป็นการเผยแพร่การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิ และสมาคมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้และการประชาสัมพันธ์ “แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560-2564” ซึ่งมี 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและเป็นธรรม 2.การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้รับการป้องกันบำบัดและฟื้นฟู 3.เพื่อประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน 4.สร้างศักยภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ และส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ
ทางด้านนิทรรศการประชาสัมพันธ์กิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.สุรัตน์อธิบายว่าจะเป็นการเผยแพร่การดำเนินงานของหน่วยงานทุกภาคส่วนในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในคุณค่าของสิ่งแวดล้อมในทุกลำดับขั้นตอนของการทำงาน การดำเนินกิจการงานใดงานหนึ่งให้เป็นผลสำเร็จ รวมถึง นิทรรศการประชาสัมพันธ์สินค้าใส่ใจสิ่งแวดล้อม จะจัดแสดงเผยแพร่ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดจำหน่ายภายในงานให้กับผู้สนใจ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทัศนศึกษาเชิงวิชาการและวัฒนธรรม (Technical and Cultural Excursion) ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 1 วัน เพื่อให้ผู้ลงทะเบียนร่วมทัศนศึกษาเลือกเยี่ยมชมโครงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมศึกษา ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติหรือระบบนิเวศน์ต่าง ๆ หรือเยี่ยมชมวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ตลอดจนเยี่ยมชมด้านวัฒนธรรมท่องเที่ยววิถีไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มเป้าหมายของการจัดประชุมและการจัดแสดงนิทรรศการกิจกรรมต่าง ๆ คือ กลุ่มผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน นักวิจัย นักวิชาการ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กรอิสระ ครู นักเรียน นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนผู้สนใจทั้งจากประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่มีความสนใจ ให้ความสำคัญหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจจากหน่วยงานต่าง ๆ และภาคมหาวิทยาลัย และยังมีการนำเสนอผลงานด้านวิชาการ Poster Presentation และมี Art Gallery นำเสนอผลงานภาพวาดด้านสิ่งแวดล้อม
“การประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 10 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจะก่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกให้เป็นไปตาม “แผนจัดการคุณภาพ สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2560 – 2564” รวมถึงประชาชนทั่วไปและผู้เกี่ยวข้องในวงการสิ่งแวดล้อมศึกษาได้รับความรู้และมีความเข้าใจด้านการร่วมกันพัฒนาความตระหนักรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา และการให้ความสำคัญใส่ใจในการดูแลสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่ปัจจุบันไปจนในอนาคตต่อๆ ไป นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกช่วงอายุมีโอกาสได้แสดงออกทางความคิด ใช้ความรู้ความสามารถและความสนใจเพื่อกระตุ้นความสำคัญ และรณรงค์ให้ทั่วโลกดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ บนเวทีวิชาการระดับสากล รวมถึงการเป็นพื้นฐานของความร่วมมืออันจะนำไปสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อร่วมกันให้ความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในทุกระดับช่วงอายุระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียต่อไป และสุดท้ายจะเกิดความร่วมมือเชิงนโยบายระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ภายใต้แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี 2560 – 2564” ผศ.ดร.สุรัตน์ กล่าว
สำหรับการประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 10 จะจัดประชุมในหัวข้อ Local Knowledge, Communication and Global Connectivity โดยมีหัวข้อย่อย 3 หัวข้อได้แก่ THEME 1: Local Sphere THEME 2 Environmental Education and Communication Sphere และ THEME 3 Global Connectivity Sphere Sub-theme ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2562 เนื่องในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมนำเสนอผลงาน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้ในอัตราราคาพิเศษลด 50% สำหรับนักเรียน นักศึกษา อัตราค่าลงทะเบียน 5,000 บาท พร้อมอาหารกล่อง ส่วนครู อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ อัตราค่าลงทะเบียน 10,000 บาท พร้อมอาหารกลางวันแบบบุฟเฟ่ต์และอาหารว่าง นอกจากนี้หากนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจที่ไม่ได้นำเสนอผลงาน แต่มีความประสงค์จะเข้าร่วมฟังการประชุม สามารถลงทะเบียนจองที่นั่งได้ในราคาเพียง 350 บาทต่อวัน หรือ 1,000 บาท สามารถเข้าร่วมงานได้ 3 วัน และพิเศษสำหรับการลงทะเบียนกลุ่มสำหรับผู้นำเสนอผลงานทุกระดับ ลงทะเบียน 5 ท่าน รับส่วนลด 50% สำหรับท่านที่ 6 และผู้ที่เข้าฟังโดยไม่ได้นำเสนอผลงานใด ๆ ลงทะเบียนแบบกลุ่มสำหรับ 5 ท่าน และท่านที่ 6 ไม่เสียค่าลงทะเบียนสมัคร ส่วนประชาชนทั่วไปที่เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการต่าง ๆ สามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อย่อยในการประชุมแต่ละวัน หรือ สอบถามอัตราค่าสมัครลงทะเบียน ติดต่อ www.facebook.com/weec2019 หรือ www.weec2019.org และ weec2019@gmail.com