ธนชาตประกันภัย ผนึก ศปถ. เปิดโครงการ “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย” สร้างองค์ความรู้ – กระตุ้นท้องถิ่น ร่วมแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ

ธนชาตประกันภัย สร้างแต้มต่อให้ชุมชนก้าวสู่ถนนปลอดภัย จับมือศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดโครงการ “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย” ปลุกพลังประชาชนในท้องถิ่นทุกระดับร่วมใจแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบนถนนในชุมชนของตน เตรียมงบ 10 ล้านบาท มุ่งเป้าแก้ 30 จุดเสี่ยงทั่วประเทศ ภายใน 3 ปี หวังลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ เปิดรับสมัครโครงการแล้ววันนี้ถึง 10 ม.ค.62  ที่เว็บไซต์ www.พลังชุมชมสร้างถนนปลอดภัย.com

นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในประเทศไทยปัจจุบันอยู่อันดับ 9 ของโลก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในท้องถิ่นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะถนนสายรองที่ตัดผ่านชุมชน ซึ่งชุมชนใช้สัญจรเป็นเส้นทางหลักในชีวิตประจำวัน จึงเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลกระทบต่อมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ธนชาตประกันภัย ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจด้านการประกันภัย ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเชื่อมั่นว่าความปลอดภัยทุกคนมีส่วนสร้างได้ จึงมุ่งมั่นสร้างแต้มต่อให้กับสังคม ภายใต้โครงการ “แต้มต่อสู่ความปลอดภัย Yes, We Safe” ที่มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์เพื่อสังคมและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

โครงการ “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย” ต่อยอดมาจากโครงการ “Safer on the Road” เมื่อปีก่อนที่มุ่งสร้างความปลอดภัยในพื้นที่จุดเสี่ยงภัยอันตรายและเกิดอุบัติเหตุบนถนนสายรองในพื้นที่ชุมชน เพื่อสร้างแต้มต่อให้ชุมชนก้าวสู่ถนนปลอดภัย โดยในปี 2562 นี้ ธนชาตประกันภัยร่วมมือกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) วางเป้าหมายให้ชุมชนตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาเพื่อนำไปสู่การร่วมกันสำรวจหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขจุดเสี่ยงถนนอันตรายในพื้นที่ของตนเอง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียของคนในชุมชนและผู้ใช้รถใช้ถนนที่ใช้เส้นทางดังกล่าว ด้วยการเปิดโอกาสให้ชุมชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน นำเสนอโครงการวิเคราะห์แก้ไขจุดเสี่ยงในชุมชนของตน เน้นให้ทุกคนสามารถดำเนินการได้ง่ายๆ สามารถวิเคราะห์จัดทำแผนได้ด้วยตนเอง โดยนำทฤษฎี “ฮิยาริ ฮัตโตะ” (Hiyari – Hatto) ร่วมกันสร้างแผนที่จุดเสี่ยงอุบัติเหตุในชุมชน จากนั้นวิเคราะห์ประเมินปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงอุบัติเหตุทั้งด้านกายภาพและสุขภาพ ได้แก่

1. การประเมินความเสี่ยงด้านกายภาพของถนน จะใช้หลักการประเมินของ Road Safety Audit  (RSA) ของกรมทางหลวงชนบท เป็นการประเมินแบบ yes / no พิจารณาตามสภาพถนนแต่ละแบบ  

2. การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ จะต้องวิเคราะห์ให้ครอบคลุมทั้งด้านพฤติกรรม ด้านสังคม และความล้มเหลวด้านกระบวนการ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้สร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน โดยเปิดให้เข้าไปเรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ สำหรับใช้วิเคราะห์แก้จุดเสี่ยงได้ด้วยตนเอง ผ่านทางเว็บไซต์ : www.พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย.com อีกด้วย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 ไปจนถึงเมษายน 2563 

“เราเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการขับเคลื่อนโครงการจะดำเนินงานผ่านเครือข่ายชุมชนตั้งแต่ระดับ “นายอำเภอ” ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ.อำเภอ) ทำหน้าที่ผลักดันให้ชุมชนระดับ “ตำบล” มีบทบาทร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเอง โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด (ศปถ.จังหวัด) จะให้การสนับสนุน ตลอดจนให้คำปรึกษาและกำกับติดตามการดำเนินการโครงการฯ ให้เป็นไปตามขั้นตอน และเมื่อชุมชนนำเสนองานของตนเองเข้ามาแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกผลงานซึ่งจะแบ่งเป็น 3 รอบ ได้แก่ รอบคัดเลือก ครั้งที่ 1 “นายอำเภอ” คัดเลือกผลงานในพื้นที่ของตนเองให้เหลือเพียง “1 อำเภอ 1 โครงการ” รอบคัดเลือก ครั้งที่ 2 คณะกรรมการคัดกรองผลงานให้เหลือเพียง 40 โครงการ รอบตัดสิน ที่ปรึกษาและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คัดเลือก 10 โครงการ ซึ่งหากชุมชนใดผ่านเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก ธนชาตประกันภัยจะประสานกับภาคีและชุมชนเพื่อเข้าพื้นที่และร่วมกันแก้ไขปัญหาลดจุดเสี่ยงในพื้นที่ชุมชนนั้นต่อไป”

นายพีระพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับแผนการดำเนินงานดังกล่าว บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายไว้ 3 ปี จะต้องแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบนถนนอันตรายให้ได้ 30 จุดในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณ 10 ล้านบาท

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและสมัครได้แล้ววันนี้ถึง 10 มกราคม 2562 ที่เว็บไซต์ www.พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย.com และติดตามข่าวสารของโครงการได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ : พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *