สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ปลุกตู้ Kiosk ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง โดยตู้นี้จะเป็นจุดให้บริการนักศึกษาสำหรับการเปลี่ยนรหัสเข้าอินทราเน็ต และรหัส Wi-Fi ของนักศึกษาได้ด้วยตนเอง
ผศ.ดร.วุฒิพงษ์ ชินศรี ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ระบบการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศในมหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนใหญ่นั้น ทางสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นผู้ดูแลอำนวยความสะดวก ให้บริการแก่นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร ซึ่งในปัจจุบันด้วยจำนวนนักศึกษา และบุคลากรที่มีจำนวนมากพอสมควร ทำให้ทางสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ประยุกต์ คิดค้นพัฒนาด้านการบริการให้เข้าถึงได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว
“เนื่องจากนักศึกษามักลืมรหัสผ่านในการเข้าใช้งาน อินทราเน็ต ทำให้ลงทะเบียนไม่ได้ ตรวจสอบผลการเรียนไม่ได้ หรือลืมรหัสผ่านเพื่อใช้งาน Wi-Fi ซึ่งทำให้ไม่สะดวกในการใช้งานอินเทอร์เน็ต การให้บริการด้านการรีเช็ตรหัสผ่าน นั้นจึงเป็นภาระงานหลักของเจ้าหน้าที่ Helpdesk ซึ่งมีนักศึกษาเข้ามาติดต่อใช้บริการเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผมและทีมจึงตั้งใจอยากทำให้ปัญหาตรงนี้หมดไป และยังช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับนักศึกษาด้วย โดยการนำบริการรีเช็ตรหัสผ่านให้บริการผ่านตู้ Kiosk ซึ่งสามารถนำไปติดตั้งในพื้นที่ที่นักศึกษาเข้าถึงสะดวกและให้บริการได้ตลอดเวลา ซึ่งก่อนหน้านี้การให้บริการผ่านตู้ Kiosk จะมีจุดด้อยในการยืนยันตัวบุคคล โดยจำเป็นต้องนำบัตรนักศึกษาหรือบัตรประชาชนมาใช้ยืนยันตัวตน ซึ่งนักศึกษาบางส่วนจะไม่ได้นำติดตัวมา และในบางกรณีหากบัตรนักศึกษาหรือบัตรประชาชนหาย อาจทำให้ผู้ไม่หวังดีนำมาใช้งานได้ แต่สำหรับตู้ Kiosk นี้ มีระบบยืนยันตัวตนโดยใช้ใบหน้าของนักศึกษา ทำให้นักศึกษาไม่จำเป็นต้องพกบัตรใดๆ มาใช้บริการ แต่สามารถมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลได้ โดยกระบวนการทำงานของ9^h Kiosk นี้จะเริ่มจากการที่ผู้ใช้งานกรอกรหัสนักศึกษาผ่านทางแป้นพิมพ์หรือใช้บัตรนักศึกษามาแตะที่เครื่องอ่านบัตรก็ได้ จากนั้นขั้นตอนต่อไประบบจะขอยืนยันตัวบุคคลด้วยใบหน้า ผู้ใช้งานต้องถ่ายภาพตนเองที่หน้าตู้ Kiosk ซึ่งมีกล้องติดตั้งอยู่ โดยถ้าภาพที่ถ่ายตรงกับข้อมูลรูปภาพที่จัดเก็บไว้ ผู้ใช้งานจะสามารถทำการรีเช็ต รหัสผ่านได้ และเมื่อยืนยันที่จะรีเช็ตรหัสผ่านแล้ว ระบบจะส่งอีเมลแจ้งรหัสผ่านไปยังอีเมลของผู้ใช้งานด้วยเนื่องจากรหัสผ่านที่รีเช็ตนั้นเป็นแบบสุ่มทำให้จดจำได้ยาก หรือหากผู้ใช้งานต้องการพิมพ์ข้อมูลรหัสผ่านมาใช้ ก็สามารถพิมพ์ออกมาได้ทันที”
หากมองในแง่ของการให้บริการ ตู้ Kiosk นี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักศึกษาที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง และสำหรับผู้ให้บริการก็จะสามารถนำเวลาไปให้บริการด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น โดยความคาดหวังจากโปรเจกต์นี้ ผมก็เชื่อว่านักศึกษารุ่นใหม่พวกเขาไม่กลัวเทคโนโลยีแล้วครับ ตู้นี้จึงน่าจะเป็นช่องทางที่สะดวกสำหรับนักศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากตู้ Kiosk แล้วตอนนี้ก็ยังมีการพัฒนา Line Chatbot (RSU Connect) อยู่ด้วยครับ เบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยก็ได้เปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องของการสอบถามผลการเรียน ตารางเรียน ตารางสอบ ผ่าน Application LINE และในอนาคตเราจะทำให้ RSU Connect สามารถให้บริการเปลี่ยนรหัสผ่านสำหรับเข้าใช้งานอินทราเน็ตและ Wi-Fi ได้
นายกฤษฎา ชื่นหฤทัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายงาน Data Center สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ที่มาที่ไปของการพัฒนาตู้ Kiosk มาเป็นตัวช่วยในการให้บริการเกี่ยวกับรีเช็ตรหัสการเข้าอินทราเน็ตและ Wi-Fi นั้น จริงๆ แล้ว มหาวิทยาลัยของเรามีตู้ Kiosk มานานมากแล้วครับ แต่ด้วยปัญหาด้านซอฟต์แวร์ทำให้ต้องยกเลิกการใช้งานไป ตู้ก็ถูกเก็บไว้ครับ เมื่อเราได้มีการพูดคุยกันว่าจะสามารถปลุกตู้ที่ตายไปแล้วกลับมาใช้งานนั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง จึงเกิดเป็นโปรเจกต์การให้บริการเปลี่ยนรหัสด้วยตู้ Kiosk หลังจากที่ตรวจเช็ค ด้าน Hardware ต่างๆ แล้ว พบว่ายังอยู่ในสภาพดี เรียกว่ายังดีมากหมดทุกอย่าง จึงได้เริ่มปรึกษาหารือและเขียน Code เพื่อจะมาเชื่อมต่อกันดูกับเครื่องว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง และต้องเพิ่ม Function อะไรอีกบ้าง ตอนนี้ก็พร้อมให้บริการแล้วครับ เหลือปรับบางอย่างให้ดูทันสมัยมากขึ้นและจะเปิดให้ใช้งาน ซึ่งการให้บริการนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาและบุคลากร โดยจะเปิดให้บริการตู้นี้ที่ชั้น 1 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร1) และในอนาคตก็มีแพลนว่าจะเพิ่มจุดให้บริการให้มากขึ้น
นายขุนคำ ปองรักษาชีวิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายงานซอฟต์แวร์ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ผมดูแลในเรื่องของการทำ API ต่างๆ ที่ตู้ Kiosk นี้เรียกใช้งาน รวมไปถึงข้อมูลรูปภาพของนักศึกษาที่ใช้ในการยืนยันตัวตน โดยเมื่อมีการเรียกยืนยันตนด้วยใบหน้า ระบบจะตรวจเช็คกับฐานข้อมูลที่เป็นคลังเดียวกันกับอินทราเน็ต ซึ่งรูปใบหน้านักศึกษาจะจัดเก็บในรูปแบบ Code เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาพที่ถ่ายผ่านตู้ Kiosk และตรวจสอบดูว่านักศึกษาที่ต้องการจะรีเช็ตรหัสผ่านนั้นเป็นคนเดียวกันกับเจ้าของข้อมูลหรือไม่
นายทัตพงษ์ เทพชา หัวหน้างานฝ่ายงาน Data Center สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ผมดูแลในส่วนของ Active Directory หรือว่า AD ครับ เรียกว่าเป็นศูนย์รวมของข้อมูล โดยเมื่อมีการคีย์รหัสนักศึกษาผ่านตู้ Kiosk แล้วนั้น ระบบก็จะวิ่งมาค้นข้อมูลใน AD นี้ครับ แล้วก็จะนำข้อมูลพื้นฐานไปแสดงผลที่หน้าตู้ Kiosk สำหรับขั้นตอนการเรียกใช้งานหรือค้นหาข้อมูลจาก AD อาจทำได้ไม่ยาก แต่การจะปรับปรุงข้อมูลใน AD นั้นจำเป็นต้องมีการ Config ให้มีการเชื่อมต่อผ่าน Secure Sockets Layer (SSL) เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ซึ่งข้อมูลใน AD นั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากระบบต่างๆ จะมีการเชื่อมโยงมาที่ AD เพื่อนำข้อมูลจาก AD ไปใช้งาน ซึ่งรหัสผ่านในการใช้งาน Wi-Fi ก็จะตรวจสอบจาก AD ครับ