นายสุเมฆ ปัณฑรานุวงศ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย (AEITF) กล่าวว่า มูลนิธิได้รับการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าตามมาตรา 97(5) ผ่านการดำเนินโครงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Solar Rooftop เข้าสู่ชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน (Solar Move ) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญๆ อาทิ เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนกรุงเทพฯและปริมณฑลในหมู่บ้านจัดสรรประมาณ 200 โครงการ ประมาณ 10,000 ครัวเรือนให้มีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด
นอกจากนี้ ต้องการให้ร่วมกันส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มีแนวทางในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้า โดยมีส่วนร่วมในการใช้พลังงานสะอาดจากการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน สามารถทดลองใช้งานจริงผ่านรถนิทรรศการเคลื่อนที่ในรูปแบบ Active Learning และที่สำคัญเพื่อร่วมกันลดภาวะโลกร้อนจากการลดการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตโดยเชื้อเพลิงที่เป็นฟอสซิลซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 75% (ก๊าซธรรมชาติ 58% และถ่านหิน/ลิกไนต์ 17% ) เทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีสัดส่วนเพียง 10% ซึ่งตามการวางแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561-2580 (PDP2018) จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2580
เนื่องจากสาขาครัวเรือนหรือกลุ่มที่อยู่อาศัยมีอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าถึง 10.1% (พิจารณาจากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าเมื่อ พ.ย.2562) โดยมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าถึง 26% หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้ไฟมากเป็นอันดับ 2 รองจากสาขาอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 45% และหากมีการรณรงค์หรือส่งเสริมให้ภาคครัวเรือน รวมทั้งหมู่บ้านจัดสรรได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนของ กกพ.ที่ส่งเสริมให้มีการติดตั้งปีละประมาณ 100 เมกกะวัตต์ (MW) หรือเป็นการติดตั้งปีละ 10,000-20,000 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าได้ 4,000 ล้านบาท/ปี และหากมีการติดตั้งครบ 10 ปีตามแผน PDP2018 ก็จะมีกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดถึง 1,000 MW ซึ่งกระทรวงพลังงานคาดว่า จะมีประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนประมาณ 200,000 ครัวเรือน