บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด ประกาศความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาธุรกิจรถไฟฟ้าระบบราง ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายประเทศไทย 4.0
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายสร้างการเติบโตมูลค่ากิจการไม่เพียงเพิ่มการลงทุนในธุรกิจหลัก คือ ผลิตไฟฟ้าและพลังงาน เท่านั้นแต่ยังมุ่งขยายฐานธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีกด้วย บริษัทฯ เล็งเห็นว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความมั่นคงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านพลังงาน โทรคมนาคม และคมนาคมขนส่ง เป็นโอกาสที่มีศักยภาพ ซึ่งบริษัทฯ สามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าและพลังงานเข้าไปต่อยอดการลงทุน พร้อมทั้งจับมือกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ขยายการลงทุนสนับสนุนนโยบายของภาครัฐได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งมวลชนระบบราง ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมลงทุนในรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองร่วมกับกลุ่มบีทีเอส และ กลุ่มชิโนไทย และยังมีโครงการลงทุนร่วมกันในอนาคตอีกด้วย
สำหรับความร่วมมือกับ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด เป็นความพยายามสร้างโอกาสขยายธุรกิจขนส่งมวลชนระบบรางแบบครบวงจรการ ด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟและรถไฟฟ้าที่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของราคารถไฟและรถไฟฟ้ารวมถึงการซ่อมบำรุง ซึ่งตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวชนของภาครัฐกำหนดเป้าหมายไว้ในปี 2567 นอกจากนี้ยังจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตระบบอาณัติสัญญาณ การผลิตระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือหัวสำหรับรถไฟฟ้า และการผลิตชิ้นส่วนหลักที่สำคัญ ได้แก่ ระบบตัวรถ ระบบช่วงล่างของโครงสร้างตัวรถ และระบบขับและควบคุมการประกอบการซ่อมบำรุง และพัฒนาอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศทั้งหมด รวมถึงการผลิตไฟฟ้า ระบบกักเก็บและจำหน่ายพลังงาน และระบบประหยัดพลังงานที่ผลิตจากตู้รถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อเข้าระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งเป้าหมายตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวชนของภาครัฐกำหนดไว้ในปี 2568
“ราช กรุ๊ป จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าเข้ามาศึกษาด้านการผลิตไฟฟ้า ระบบกักเก็บและจำหน่ายพลังงาน ระบบประหยัดพลังงานที่ผลิตจากตู้รถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อเข้าระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงวิเคราะห์การลงทุน ความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน เงื่อนไขและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาธุรกิจเชิงพาณิชย์ ตลอดจนพิจารณาผู้ผลิตเทคโนโลยีต่างประเทศที่มีศักยภาพเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการด้วย สำหรับการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี” นายกิจจา กล่าว
นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด กล่าวว่า เราคือผู้นำด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางที่ให้บริการที่ปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง และบำรุงรักษางานระบบรถไฟฟ้า (E&M) ประกอบไปด้วย ระบบสื่อสาร (Communication System), ระบบควบคุมและสั่งการระยะไกล (SCADA), ระบบไฟฟ้าหลัก (Power Supply), อุปกรณ์สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (Depot), ระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling), ระบบเก็บค่าโดยสาร (AFC), ระบบประตูกั้นชานชาลา (PSD), ระบบบริหารอาคาร (Building Management System) และ ระบบตัวรถไฟฟ้า (Rolling Stock) นอกจากนี้ยังดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information Technology & Communication) ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และความปลอดภัย (Computer Network & Security) ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมศึกษาและพัฒนาธุรกิจรถไฟฟ้าระบบราง กับ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
นายมารุต ให้ข้อมูลว่า สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจรถไฟฟ้าระบบรางในครั้งนี้ เราได้รับผิดชอบในส่วนงานของการจัดทำและสนับสนุนข้อมูล ร่วมดำเนินการด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบรถไฟฟ้าและพัฒนาอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้า ทั้งด้านระบบสื่อสาร ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือหัวสำหรับรถไฟฟ้า (OCS) ระบบประกอบในการเดินรถ ระบบควบคุมอาคารและเฝ้าระวังด้านระบบไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้า และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่จะเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย เราจะใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ในระบบรางกว่า 12 ปี รวมถึงทีมงานมืออาชีพในระดับสากลในการขับเคลื่อนโครงการศึกษาและพัฒนาธุรกิจรถไฟฟ้าระบบรางให้เกิดประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด”