ความร้ายกาจของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทำให้คนทั่วโลกอยู่ในภาวะตื่นตระหนกจากการสูญเสียชีวิตประชากรนับแสนคน ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตภายใต้วิถีชีวิตแบบปกติใหม่ (New Normal) ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และรอความหวังจากนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ในวงการแพทย์คิดค้นวัคซีนและยารักษาโรค เพื่อปิดเกมกำราบโควิด-19
แม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะคลี่คลาย แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การกลับมาดำเนินชีวิตหลังผ่อนคลายการล็อกดาวน์นั้น การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนย่อมมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งสิ้น หากย้อนกลับไปในช่วงวิกฤต เป็นช่วงที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาล (รพ.) กลายเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงจากผู้ติดเชื้อ จึงจำเป็นอย่างมากที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันการติดเชื้อให้มากกว่าเดิม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกำลังพลของทีมแพทย์และขีดความสามารถในการดูและประชาชน
เอสซีจี องค์กรนวัตกรรมที่มีหลักคิดไม่ยอมปล่อยให้ทีมหมอตกอยู่ในภาวะคับขันเพียงลำพัง จึงผนึกกำลังกับทีมแพทย์ ด้วยการใช้องค์ความรู้ ปรับการผลิต พัฒนายุทธภัณฑ์ทางการแพทย์เฉพาะกิจสู้ภัยโควิด-19 นับเป็นการใช้ความรู้ความสามารถของคนไทยคิดค้นนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อนในเวลาอันสั้น เพื่อให้ตอบโจทย์และใช้งานได้จริง
ทีมแพทย์ปรับระบบและเปลี่ยนแผนการตรวจรักษา รับมือสถานการณ์โควิดระลอกแรก สู่ “ห้องคัดกรองและห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Screening & Swab Unit)
นวัตกรรมป้องกันโควิด-19” จากเอสซีจี
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า ปัญหาด่านแรกในการรักษาผู้ป่วยคือ การแยกผู้ติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อโควิด-19 ออกจากกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยรายใดติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา จึงหาทางออกด้วยการตั้งจุดคัดกรองในสถานที่โล่งนอกอาคาร เพื่อช่วยป้องกันการฟุ้งกระจายแพร่เชื้อในอาคาร โดยคัดแยกและตรวจภายในจุดเดียว (One-Stop Service)
“รพ.ราชวิถีถือเป็นรพ.แห่งหนึ่งที่รับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีผู้เข้ามารับการตรวจจำนวนมากที่สุด ดังนั้น ต้องมีห้องคัดแยกที่มีประสิทธิภาพ จึงจะช่วยให้แพทย์มั่นใจเมื่อต้องใกล้ชิดผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดที่จุด One Stop Service โดยนวัตกรรมห้องปลอดเชื้อจากเอสซีจีมาช่วยให้การทำสวอปเก็บสารคัดหลั่งปลอดภัย เพราะช่วยแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกจากผู้ป่วยทั่วไป โดยผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดาก็แยกรักษาให้ยาได้”
การคัดกรองผู้ติดเชื้อโดยการแยกจุดเป็นเพียงวิธีการเบื้องต้น ที่ยังไม่สามารถปกป้องแพทย์จากการติดเชื้อได้เต็มร้อย เอสซีจีจึงผนึกกำลังกับทีมแพทย์ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมปกป้องการติดเชื้อในทุกขั้นตอนของกระบวนการรักษาตั้งแต่จุดเริ่มต้น การคัดกรอง ห้องตรวจเชื้อ และกระบวนการรักษา
นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวถึงการพัฒนานวัตกรรมว่า ทีมงานของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ได้สังเกตการณ์ ศึกษาความต้องการ และทำงานร่วมกับทีมแพทย์ที่โรงพยาบาล ทำให้เห็นว่าทีมแพทย์และพยาบาลซึ่งเป็นด่านหน้าในการต่อสู้และยับยั้งเชื้อโควิด-19 ต้องการสถานที่พร้อมระบบระบายอากาศในการตรวจคัดกรองที่มีมาตรฐาน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจ ลดระยะเวลารอคอยของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลสามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้ปริมาณมากขึ้น
“หลังจากที่ทีมงานได้ศึกษาความต้องการและสังเกตการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล ที่โรงพยาบาล ทำให้สามารถพัฒนาห้องคัดกรองและตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง โดยพัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution ซึ่งได้ออกแบบให้มีระบบที่จะช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย มีระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล ที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ภายในอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้มากขึ้น โดยโครงสร้างกว่าร้อยละ 70-80 ถูกประกอบขึ้นรูปภายในโรงงาน ที่มีการควบคุมคุณภาพและความสะอาดตลอดกระบวนการผลิต โดยทีมแพทย์จะอยู่ในห้องที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องที่ป้องกันไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก พร้อมใช้แสงยูวีเข้มข้นสูง ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) หลังการใช้งานห้องทุกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ทีมแพทย์”
พระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี แผ่ไพศาล ทรงห่วงใยประชาชน พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ” โควิด-19 ให้ รพ. 20 แห่งทั่วประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” เพื่อรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้โรงพยาบาลต่าง ๆ 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเสริมความพร้อมหากมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซ้ำในอนาคต ยังความปลื้มปีติแก่ทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่า ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
พลเรือตรี เกิดศักดิ์ วีระโยธิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ กล่าวว่า “ปัจจุบัน โรงพยาบาลฯ ต้องดูแลผู้ป่วยเก่า และคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ การที่ผู้ป่วยได้รับการตรวจเชื้อก่อน ซึ่งเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ของสังคม ก็สามารถช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่อาจจะมีเชื้อแต่ไม่มีอาการได้ จะทำให้ช่วยป้องกันบุคลากรไม่ให้ติดเชื้อ และไม่สิ้นเปลืองชุด PPE สร้างความมั่นใจให้บุคลากรในการทำหัตถการกับผู้ป่วย จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่าหาที่สุดมิได้ ที่ทั้งสองพระองค์ได้พระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ ให้แก่โรงพยาบาลฯ ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพให้สามารถป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อของทั้งบุคลากรและประชาชนได้”
เอสซีจีไม่หยุดพัฒนา ต่อยอดสู่ “นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit)” ใช้งานง่าย ติดตั้ง-เคลื่อนย้ายสะดวก ตอบโจทย์การใช้ในโรงพยาบาล แม้พื้นที่ห่างไกล
ด้วยความเชี่ยวชาญทั้งในด้านวัสดุพลาสติก วิศวกรรมศาสตร์ และการออกแบบนวัตกรรม ของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ผสมผสานกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของทีมแพทย์ จึงได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเน้นที่การป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อจากผู้ป่วย และทำให้นวัตกรรมนี้สามารถเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่แม้ในที่ห่างไกล จึงเป็นที่มาของ “นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่” ที่นอกเหนือจากความสะดวกในการขนส่ง ติดตั้งง่าย น้ำหนักเบาแล้ว ยังช่วยลดภาระในการจัดหาและสวมใส่ชุด PPE (Personal Protective Equipment) ได้เป็นจำนวนมาก แพทย์สามารถทำงานได้อย่างอุ่นใจและคล่องตัว แม้ต้องเผชิญหน้ากับศึกใหญ่
ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้พัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ ร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงของแพทย์มากที่สุด โดย Mobile Isolation Unit นี้ มีทั้งหมด 5 นวัตกรรม จุดเด่นคือ นอกจากจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อสู่บุคลากรการแพทย์ด้วยระบบควบคุมความดันอากาศที่มีประสิทธิภาพ เเละระบบกรองอากาศระดับ HEPA ที่ช่วยกรองอากาศให้สะอาด ปลอดภัยแล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องความสะดวกในการใช้งานอย่างมาก เพราะสามารถติดตั้ง-รื้อถอนได้ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก โครงสร้างทุกชิ้นแข็งแรง ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบหลัก เนื่องจากมีน้ำหนักเบาแต่ยังคงความแข็งแรงทนทาน”
ทั้งนี้ นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ ของเอสซีจี ประกอบด้วย 5 นวัตกรรมหลัก ได้แก่
1) ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure Isolation Room) อุปกรณ์เสริมพิเศษที่ออกแบบให้เหมาะกับปฏิบัติการในห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู หรือแม้แต่เป็นห้องพักผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถรักษาผู้ป่วยหนักได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่น ๆ
2) ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber) ห้องตรวจที่ช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถสอดมือเข้าไปทำหัตถการ (Swab) โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ออกแบบเป็นทรงกระบอกแนวตั้ง ทางเข้าเป็นซิปรูดสำหรับเปิด-ปิด เพื่อให้สะดวกในการใช้งาน
3) แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ (Patient Isolation Capsule) อุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
4) แคปซูลความดันลบขนาดเล็ก สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อเข้าเครื่อง CT Scan (Small Patient Isolation Capsule for CT Scan) อุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าเครื่อง CT Scan
5) อุปกรณ์ครอบศีรษะคนไข้เพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อ สำหรับงานทันตกรรม (Dent Guard) ป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อระหว่างการทำงานทันตกรรม
รศ.นพ.สมบูรณ์ ทรัพย์วงศ์เจริญ หัวหน้างานศัลยศาสตร์ทั่วไป โรงพยาบาลราชวิถี หนึ่งในทีมแพทย์ที่นำห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ไปติดตั้งในห้องฉุกเฉิน เล่าว่า “ทีม Design Catalyst ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุและการออกแบบ และทีมวิศวกรของเอสซีจี ได้ออกแบบให้ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบฯ ติดตั้งง่ายแบบ DIY (Do It Yourself) ด้วยการอธิบายวิธีการติดตั้งประมาณ 1 ชั่วโมง ก็สามารถติดตั้งเองได้ ถือเป็นการปรับปรุงห้องรองรับผู้ป่วยใหม่จากห้องผู้ป่วยเดิม โดยไม่ต้องลงทุนใหม่ ซึ่งอุปกรณ์ที่ติดตั้งช่วยเคลื่อนย้ายได้ เป็นประโยชน์ในการช่วยป้องกันเชื้อ เพราะมีระบบดูดลมเอาเชื้อโรคจากแพทย์ผู้รักษา และมีกำแพงยางกั้นอีกชั้น จึงทำให้โอกาสสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วยลดลง สามารถนำไปปรับใช้ในโรงพยาบาลสนามในได้อนาคตหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น”
ธนวงษ์ อธิบายเสริมว่า แม้ทั้ง 5 นวัตกรรมได้ถูกพัฒนาขึ้นจากพลาสติก แต่ถือเป็นพลาสติกที่ยังคงรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิล และหมุนเวียนกลับมาเป็นวัตุดิบสำหรับการผลิตใหม่ได้ เพราะนั่นมาจากหลักคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเอสซีจี ที่จะต้องมาพร้อมกับแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ต้องสามารถหมุนเวียนสินค้าเมื่อสิ้นอายุการใช้งานกลับสู่ระบบการจัดการ เพื่อให้สามารถนำมากลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อไม่เพิ่มขยะให้โลก
พลาสติกเมื่อใช้ถูกที่ถูกเวลา จึงเป็นวัสดุที่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด ช่วยเป็นเกราะป้องกันทีมแพทย์ สู้เชื้อโควิด-19 ซึ่งได้รับการประดิษฐ์และพัฒนาเฉพาะกิจจากฝีมือคนไทย ที่สามารถนำมาใช้ได้ทันต่อเหตุการณ์ ถูกที่และถูกเวลา
คนไทยไม่ทิ้งกัน คนไทย – ภาครัฐ – เอกชน ประสานพลัง ปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ จัดหาอุปกรณ์เสริมทัพช่วยแพทย์-พยาบาล สู้วิกฤตโควิด-19
ในยามที่ประเทศไทยประสบวิกฤตอย่างที่ไม่มีใครเคยคาดคิดและเตรียมแผนการรับมือไว้ และขณะเดียวกันทรัพยากรทางการแพทย์ต่างขาดแคลน โรงพยาบาลทั่วประเทศจำนวนมากต่างต้องการอุปกรณ์ป้องกันที่สามารถปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อได้ เราได้เห็นน้ำใจจากคนไทย ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างจึงร่วมมือกันระดมทุนเพื่อจัดหานวัตกรรมและอุปกรณ์ทางแพทย์ อาทิ ห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ ชุดอุปกรณ์ติดตามสุขภาพทางไกล ฯลฯ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของทีมแพทย์และพยาบาล สำหรับใช้ในการป้องกันตนเองและดูแลผู้ป่วยโควิด-19
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิชัยพัฒนา กล่าวว่า “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรู้สึกห่วงใยพี่น้องชาวไทยที่กำลังเผชิญปัญหากันอยู่ในขณะนี้ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นช่องทางในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชน ด้วยการจัดหาอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อนำไปจัดหาอุปกรณ์ที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรแพทย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย โดยได้นำ “นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่” ของเอสซีจี ไปส่งมอบที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา เป็นแห่งแรก เพราะนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในขณะปฏิบัติงานตรวจรักษาผู้ป่วยแล้ว นวัตกรรมนี้ยังสะดวกในการใช้งาน สามารถติดตั้งได้ง่าย และเคลื่อนย้ายสะดวก เหมาะสมกับโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ห่างไกล โดยมีกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย จะช่วยสนับสนุนการขนส่งไปยังโรงพยาบาลดังกล่าว”
ในขณะที่ เชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “มูลนิธิเอสซีจี ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ “ช่วยกันแคร์ดูแลกัน” ให้ประเทศไทยก้าวผ่านภัยครั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ที่ช่วยยกระดับความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ใกล้ชิด โดยที่ผ่านมาได้เร่งส่งเร่งส่งมอบนวัตกรรมต่าง ๆ ให้แก่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีจำนวนผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับของทีมแพทย์ พยาบาล ให้สามารถทำงานต่อสู้กับโควิด-19 อย่างปลอดภัยและผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดี”
นอกจากนี้ กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงภาคเอกชน ตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 และพร้อมให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยที่กำลังเผชิญวิกฤตกันอยู่ในขณะนี้ จึงได้เชิญชวนเครือข่ายของหอการค้าทั่วประเทศ ทั้งหอการจังหวัด สมาคมการค้า หอการค้าต่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สมาชิก ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคเงิน เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นและเร่งด่วน สำหรับช่วยเหลือทีมแพทย์-พยาบาล ซึ่งเป็นบุคคลด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับผู้ป่วยและเชื้อโควิด-19 โดยหอการค้าฯ ได้สนับสนุน ‘นวัตกรรมห้องตรวจเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure SWAB Unit)’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ CPAC Construction Solution จำนวน 10 ยูนิต ให้แก่ 10 โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมากในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกันของภาคธุรกิจในครั้งนี้จะเป็นพลังให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านภัยครั้งนี้ได้”
นวัตกรรมเหล่านี้เป็นการคิดค้นขึ้นมาเฉพาะกิจ ตอบโจทย์ความต้องการใช้ให้ทันต่อเหตุการณ์ในระยะสั้น ถือเป็นการผนึกกำลังการทำงานเพื่อช่วยให้ประเทศฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ และอาจจะเป็นหนึ่งในโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบทางการแพทย์จากไทยที่สามารถต่อยอดไปสู่ความต้องการของตลาดโลก เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับระบบการดูแลรักษาสุขภาพ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จะไม่สามารถคลี่คลายลงได้อย่างทุกวันนี้ หากขาดพลังความร่วมมือ และพลังน้ำใจของคนไทยที่ช่วยเหลือกันในยามที่ต่างคนต่างต้องเผชิญกับวิกฤตที่ไม่คาดคิด