นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.) ให้ร่วมบูรณาการพัฒนาคุณภาพน้ำในคลองเปรมประชากร เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรม เพื่อช่วยเหลือประชาชนและมีผลงานที่ประสบสำเร็จ เช่น เครื่องพ่นหมอกไอน้ำ เครื่องขจัดมลพิษทางอากาศ Pm 2.5 และเครื่องผลิตน้ำสะอาดเคลื่อนที่ ฯลฯ
“จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำในคลองเปรมประชากรตลอดสายในกรุงเทพฯ พบว่า เขตดอนเมืองและหลักสี่ เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนอาศัยอย่างหนาแน่น และมีน้ำเน่าเสียมากที่สุด จึงเหมาะสมต่อการดำเนินโครงการฟื้นฟู จึงได้ประสานความร่วมมือกับเอสซีจี ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่มีศักยภาพร่วมดำเนินการออกแบบและจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายน้ำลงคลองเปรมประชากร โดยทำการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้ในครัวเรือน นำร่องที่อาคาร 8 แฟลตตำรวจ ทุ่งสองห้อง จำนวน 2 ยูนิต ซึ่งมีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียชุมชน รวมถึงเอสซีจี ได้สนับสนุนถังดักไขมัน จำนวน 185 ถัง ให้กับชุมชนที่พักอาศัยในแฟลตตำรวจ ตลอดจนบ้านเรือน และร้านอาหาร ที่อยู่ในพื้นที่เขตหลักสี่ และเขตดอนเมือง เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงติดตั้งนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ จำนวน 4 ชุด มอบให้เขตหลักสี่ และเขตดอนเมือง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะตกค้างที่นอกจากจะทำให้การสัญจรทางน้ำสะดวกขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันปัญหาระบบระบายน้ำขนาดใหญ่ขัดข้อง นับเป็นครั้งแรกที่ติดตั้งทุ่นกักขยะในคลอง โดยสามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งบริเวณอื่นได้
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังจัดกิจกรรมจิตอาสากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ จำนวน 200 คน เพื่อสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมกับในการรักษาสิ่งแวดล้อม ขยายผลร่วมมือในใจคนให้เกิดความยั่งยืนของการฟื้นฟูคลองเปรมประชากร” นายกอบชัย กล่าว
นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวเพิ่มเติมว่า “เอสซีจีรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมในโครงการ “จิตอาสาสำรวจ ออกแบบจัดหาและติดตั้งชุดกรองน้ำเสียในคลองเปรมประชากร เฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10” เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำในลำน้ำสาธารณะ และลุ่มน้ำสายหลักของประเทศ การสนับสนุนครั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาเสีย และเป็นโครงการต้นแบบในการทดลองแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในเขตชุมชนเมืองในบริเวณที่มีอาคารบ้านเรือนพักอาศัยติดกับลำน้ำสาธารณะ
ทั้งนี้ เอสซีจีได้สนับสนุน1. ชุดบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือน ได้แก่ ถังดักไขมัน นวัตกรรมแบบดีไอวาย ที่เอสซีจีพัฒนาขึ้น โดยทำจากวัสดุที่หาซื้อได้ทั่วไป ราคาประหยัด ประกอบได้ง่าย โดยนำไปใช้กรองเศษอาหาร และช่วยแยกไขมันออกจากน้ำก่อนปล่อยน้ำทิ้งสู่ท่อระบายน้ำ และนวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียไซโคลนิก (Zyclonic) จากเอสซีจี เป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพในการขจัดของเสียและฆ่าเชื้อโรคในน้ำเสียจากครัวเรือน และห้องน้ำ ด้วยกระบวนการทางชีวภาพและเคมีไฟฟ้า จนสามารถได้น้ำที่ปราศจากสีและกลิ่น จึงสามารถนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น รดน้ำต้นไม้ หรือทำความสะอาดทั่วไป เป็นต้น โดยถังบำบัดน้ำเสีย 1 ถัง จะสามารถบำบัดน้ำเสียได้ถึง 600 ลิตรต่อวัน ทั้งยังมีขนาดเล็ก จึงติดตั้งและดูแลรักษาได้ง่าย และสามารถเชื่อมต่อกับบ่อเกรอะ และบ่อพักน้ำเสียของอาคาร 2. นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ HDPE-Bone จาก
เอสซีจี เพื่อลดปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลอง ทำหน้าที่เป็นทุ่นกักขยะ ที่มีกลไกฝาเปิด-ปิดที่อาศัยหลักการไหลของน้ำและแรงดัน ช่วยกักเก็บขยะลอยน้ำ โครงสร้างผลิตจากเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีน มีสารกันรังสียูวีจึงสามารถใช้งานกลางแจ้ง เนื้อวัสดุมีความแข็งแรง ทนทาน ทำให้อายุการใช้งานยาวนาน และน้ำหนักเบา สามารถรองรับขยะได้สูงสุด 700 กิโลกรัม ซึ่งนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำนี้ ได้มีการใช้ครั้งแรกในลำคลองบริเวณปากแม่น้ำจังหวัดระยอง สำหรับในครั้งนี้ได้มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อจะช่วยให้การกักเก็บขยะในลำคลองสะดวกรวดเร็วขึ้น 3. สนับสนุนการปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณแฟลตตำรวจทุ่งสองห้อง เพื่อความสวยงาม และปลอดภัยให้แก่ผู้อยู่อาศัย โดยใช้ผลิตภัณฑ์ขอบคันหิน (Curb Stone) ซึ่งผลิตจากวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า “นายยุทธนา กล่าวในตอนท้าย
สำหรับคลองเปรมประชากรมีความยาวกว่า 50 กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดกรุงเทพฯ ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำในลำน้ำและลุ่มน้ำสายหลักของประเทศ ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 โครงการ ได้แก่ คลองเปรมประชากร มีโรงงานบริเวณโดยรอบคลองดังกล่าว จำนวน 104 โรง และ 1 นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีระบบบำบัดน้ำเสียอยู่ และมีโรงงานที่ระบายน้ำทิ้งลงคลองฯ เพียง 23 โรงเท่านั้น ส่วนคลองอู่ตะเภา/ทะเลสาบสงขลา ได้ให้โรงงานทุกแห่งลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) บำบัดน้ำก่อนปล่อยน้ำ การรณรงค์เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และการใช้น้ำตามหลัก 3 R (Reduce Reuse Recycle) รวมทั้งการอบรมเครือข่ายเพื่อร่วมเฝ้าระวังคอยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแล สำหรับในระยะต่อไปปี 2563-2564 กระทรวงฯ มีแผนดำเนินโครงการ ณ แม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีโรงงานหลายแห่งตั้งอยู่ และคลองแสนแสบ ที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมบางชัน