โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดตัวเทคโนโลยีดูแลโรคหัวใจ “S-Patch Cardio” เครื่องมือติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ Real-time จัดเก็บข้อมูลบนระบบ Cloud server ส่งข้อมูลถึงแพทย์หัวใจด้วยความสะดวกรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจได้อย่างชัดเจน และถูกต้อง ยกระดับสู่ Digital Hospital เต็มรูปแบบ ในงานวันหัวใจโลก “ฝากหัวใจ…ให้เราดูแล”
นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า เผยว่า โรงพยาบาลพระรามเก้ามีวิสัยทัศน์มุ่งมั่นสู่การเป็น Digital Hospital ที่ไม่ใช่เพียงแค่นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเดียวเท่านั้น แต่เรามีมุมมองว่าเทคโนโลยีนั้นต้องตอบโจทย์การดูแลสุขภาพทั้งในมิติของการป้องกันและการรักษา มีความทันสมัย เข้าถึงง่าย สะดวกสบาย ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ผู้ป่วยยุค New normal งานวันหัวใจโลกจึงถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการดูแลรักษาสุขภาพ และแสดงถึงความพร้อมที่จะยกระดับในฐานะ Digital Hospital ได้เป็นอย่างดี
“สถิติองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มการเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในงานวันหัวใจโลก “ฝากหัวใจ…ให้เราดูแล” สถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า จึงได้เปิดตัว “S-Patch Cardio” เทคโนโลยีติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง มาใช้ในการดูแลสุขภาพหัวใจ
“S-Patch Cardio” คือเครื่องติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ Real-time ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง หรือมากกว่า เป็นลักษณะของ Continuous Single-lead EKG หรือ Single lead Holter Monitoring ใช้งานโดยการติดกับตัวผู้ป่วยได้โดยตรง เครื่องมือมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบาเพียง 11 กรัม ไม่มีสายระโยงระยาง ทำให้ผู้ใช้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด ซึ่งข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะถูกจัดเก็บบนระบบ Cloud server และสามารถส่งข้อมูลที่บันทึกจากสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ไปถึงแพทย์หรือโรงพยาบาลได้โดยตรง เพื่อให้แพทย์ด้านหัวใจสามารถทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง ปลอดภัย ช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจหรือหัวใจวายเฉียบพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายแพทย์สุทัศน์ คันติโต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า เผยว่า “S-Patch Cardio” เป็นเครื่องมือวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดต่างๆ จาก Guideline ของ European Society of Cardiology ที่สามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจหรือหัวใจวายเฉียบพลัน หลังจากการติดตั้งอุปกรณ์บริเวณกลางหน้าอกของผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะสามารถเข้าถึงข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ใช้งานได้แบบแบบ Real-time เมื่อแพทย์เห็นข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากผู้ใช้ส่งผ่านระบบ Cloud server แพทย์ที่อยู่ปลายทางก็สามารถเห็นข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ทันที ส่งผลให้การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น”
“แต่เดิมแล้วโรงพยาบาลพระรามเก้า มีเครื่องมือทางการแพทย์ Holter Monitor ที่ใช้ในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ซึ่งมีสายระโยงระยาง น้ำหนักตัวเครื่องค่อนข้างมาก เกิดความไม่สะดวกสบาย และอาจจะกระทบกับกิจวัตรประจำวันของผู้ใช้งานก็เป็นได้ โรงพยาบาลพระรามเก้าจึงนำเอาเครื่องมือที่ทันสมัย และเหมาะกับไลฟ์สไตล์คนในยุคดิจิทัลนั่นคือเครื่อง “S-Patch Cardio” ที่มีนำหนักเบา ไม่มีสายระโยงระยาง และที่สำคัญไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานอีกด้วย ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ คนในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจโดยตรงที่อาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ผู้ที่มีอาการสงสัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ใจสั่น หวิวๆ หน้ามืด เป็นลบ วูบ, ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น นักกีฬาที่ออกกำลังกายหนัก ทำงานหนัก อดนอน รวมไปถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการติดตามการเต้นของหัวใจในกิจกรรมต่างๆ” นายแพทย์เสถียร กล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจากเครื่อง S-Patch Cardio ของโรงพยาบาลพระรามเก้า จะเข้ามายกระดับคุณภาพพื้นฐานการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างเห็นผล แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจอย่าง นายแพทย์สุทัศน์ ก็ได้เสริมถึงการดูแลสุขภาพเบื้องต้นให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ เช่น การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ทานอาหารบำรุงหัวใจ การรักษาสุขภาพจิตให้ดี และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 1270 / Website: www.praram9.com / Line: https://lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital