ศศก.ร่วม สสส.ถกปัญหาการระบาดสารเสพติดและตลาดการค้า ระบุหลังโควิด-19 ปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564ที่ผ่านมา ที่โรงแรมแมนดาริน  ในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “การระบาดสารเสพติดและตลาดการค้า” จัดโดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อร่วมกันหาแนวทางกำหนดนโยบายสารเสพติด 

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก  สสส. กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เพราะส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชน และความมั่นคงของชาติ แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง รวมทั้งได้ปรับนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่บรรเทาลงเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่เกิดผลอย่างยั่งยืน  
น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหายาเสพติดกลับมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มียาเสพติดจำนวนมากถูกลักลอบนำเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยาบ้าและไอซ์” จนเกิดการผลิตมากกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ (Over supply) ส่งผลให้นักค้ายาเสพติดพยายามกระตุ้นความต้องการใช้ยาเสพติด จะเห็นได้จากการตรวจยึดจับกุมยาเสพติด ทั้งในพื้นที่ชายแดนที่มีปริมาณมากขึ้น คาดว่าเป็นผลมาจากปัจจัยด้านการขยายตัวของการผลิตยาเสพติดและการนำเข้ายาเสพติดเพื่อทดแทนส่วนที่ถูกจับกุม มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ยาเสพติดจะยังคงมีความรุนแรงและขยายตัวสูงขึ้น การที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดให้บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานทุกมิติไปพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพด้วยทั้งด้านการป้องกัน ด้านการปราบปราม ด้านการบำบัดรักษา และด้านการบริหารจัดการ รวมทั้งการเฝ้าระวังและการทำวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการด้านสารเสพติดจึงเป็นสิ่งทีจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน

รศ.พญ.รัศมน  กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า สถานการณ์ยาเสพติด หากติดตามอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีสารแบบแปลกๆ ที่เกิดอันตรายในหมู่เยาวชนและเป็นข่าวใหญ่โต อาทิ ยาเคนมผง นอกจากนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ายาเสพติดมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ  โดยเฉพาะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการพนันและการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้จากการสำรวจสถานการณ์ด้านยาเสพติดในประเทศไทย ในรอบ12 เดือนที่ผ่านมา สารเสพติดที่พบมาก คือ กัญชา กระท่อม ยาบ้า และไอซ์ ร้อยละ 4.6 ในกลุ่มอายุ 15 ปี ขึ้นไป ส่วนการใช้สารเสพติดแบบถูกกฎหมาย พบว่าร้อยละ 30 เป็นแอลกอฮอล์ อยู่ในช่วงอายุ 15 ปี ขึ้นไป ส่วนยาสูบมากกว่าร้อยละ20 เป็นผู้สูบในปัจจุบัน ถ้าเป็นกัญชาที่ไม่ใช้ทางการแพทย์ หรือใช้เพื่อสันทนาการ พบมากกว่าร้อยละ 2 ผิดกฎหมาย กระท่อมมากกว่าร้อยละ 2 และยาบ้า,ไอซ์ ร้อยละ 0.4  


รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า ช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอกแรกของปีที่แล้ว ได้สำรวจการใช้สารเสพติดว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรบ้าง พบว่าโดยรวมทั้งถูกและผิดกฎหมาย มีการใช้ลดลง เพราะมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ไม่ได้ติดต่อสังสรรค์ หาสารเสพติดได้ยากกว่าปกติ จึงมีข้อน่าห่วง เพราะในช่วงเกิดโควิด-19 เกิดผลกระทบทั้งในด้านจิตใจ เศษฐกิจและสังคม ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อาจกลับมาใช้มากขึ้น และที่สำคัญยังพบว่าสารเสพติดที่ตรวจพบถูกดัดแปลงสูตร เพื่อลดต้นทุน ทำให้ความบริสุทธิ์ของสารไม่เหมือนเดิม โอกาสที่จะกระทบต่อร่างกายสูงขึ้น 
“เมื่อเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผู้ค้าลดต้นทุนด้วยการเอาสารอื่นมาผสม ทำให้ขายได้ในราคาถูกลง แต่คนใช้ไม่รู้ เกิดความไม่ปลอดภัย รวมถึงการขนส่งที่ผ่านมาทำได้ยากของจึงล้นสต๊อก เมื่อเริ่มเอาออกมาขาย ทำให้ราคาถูกลงคนเข้าถึงได้ง่ายกว่าปกติ อาจทำให้มีการใช้สารเสพติดมากขึ้น จึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้” รศ.พญ.รัศมน กล่าว  
รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า การใช้สารเสพติดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ต้องมองผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งทางกฎหมายและผลกระทบทางสังคม เพราะหากเสพติดแล้วหยุดไม่ได้จะเกิดปัญหา หากใช้วิธีการลงโทษเช่นปัจจุบันคือ การจำคุกเกิดปัญหาล้นคุก ปล่อยตัวออกมาแล้วยังมีพฤติกรรมแบบเดิม กลับเข้าไปอีก วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาโดยตรง ดังนั้นควรให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปว่าสารต่าง ๆ มีผลกระทบอย่างไร เพื่อป้องกันในระดับบุคคลก่อน  

ด้าน น.ส.ชวนพิศ ชุ่มวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดถือเป็นนโยบายสาธารณะ เพราะมีผลบังคับกับคนทั่วประเทศ จึงมีผลเกี่ยวข้อง ทั้งเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกับต่างประเทศ ต้องพิจารณาให้ดีโดยคำนึงผลประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด ทั้งนี้ยาเสพติดส่วนหนึ่งมีประโยชน์ทางยา แต่หากใช้นอกเหนือจากการรักษาจะกลายเป็นติดเกิดผลเสียต่อสุขภาพและสังคมทันที  
น.ส.ชวนพิศ กล่าวว่า นโยบายปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศไทย ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตั้งแต่เริ่มต้นการปลูกจนถึงการผลิต เพราะกัญชาใช้เพื่อทางการแพทย์ใช้ได้เฉพาะบางสายพันธุ์ จึงไม่มีอันตราย แต่ที่ผ่านมามีลักลอบปลูกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องควบคุมให้ได้และสร้างความมั่นใจว่า เมื่อนำไปรักษาแล้วจะไม่เป็นอันตราย  
“การเปลี่ยนแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ข้อเท็จจริงแล้วอาจทำไม่ทัน เมื่อกระทรวงสาธารณสุขให้ปลูกตามบ้านได้ กระทรวงยุติธรรมคงอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น จะมาสอบถามข้อมูลอะไรหรือไม่ เพราะจริง ๆ กัญชาที่จะเปิดให้ใช้ได้ จะมีองค์การระหว่างประเทศที่กำหนดว่า จะต้องมีกลไกในการควบคุมตามมาตรฐานตามอนุสัญญาเรื่องยาเสพติดเป็นตัวกำหนด” น.ส.ชวนพิศ กล่าว  

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *