หมออนามัยจับมือร่วมชุมชน แก้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่ “สสส.” เผยมาตรการล็อคดาวน์ลดเจ็บ ตายบนถนน กว่า10% เล็งต่อยอดหลังโควิดซา

  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ ได้มีการจัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ร่วมสร้างตำบลขับขี่ปลอดภัย ไปกับหมออนามัยในสถานการณ์โควิด -19” เผยแพร่ผ่านเพจเฟสบุ๊ค “สมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ”

   น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยง สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัย มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน อยู่ที่ 20-60 รายต่อวัน ปีละกว่า 2 หมื่นราย หากไม่ลดจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ เพราะต้องดูแลค่าใช้จ่ายผู้เสียชีวิต ค่ารักษาพยาบาล ครอบครัวผู้สูญเสียเสาหลัก ล้วนเป็นปัญหาสุขภาวะ ดังนั้นต้องหาวิธีป้องกันให้ได้ ในช่วงกลางปี 63 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ล็อคดาวน์ มีมาตรการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถลดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับได้ด้วย ในขณะที่ปลายปี มีการยกเลิกการตั้งด่านตรวจเมาแล้วขับ ก็ทำให้การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันสถานการณ์การลดอุบัติเหตุทางท้องถนนมีแนวโน้มลดลง โดยปี 2563 มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 17,831 ราย หรือลดลง 10% จากปี 2562 ส่วนปี 2564 ข้อมูลถึงเดือน ส.ค. เสียชีวิต 8,862 ราย

  “ข้อมูลปี 2563 มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 49 รายต่อวัน จากเดิมเฉลี่ยวันละ 60 ราย ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากบทเรียนนี้ ทำให้เห็นว่า มาตรการที่ใช้ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถนำมาพิจารณาใช้ในการลดอุบัติเหตุทางถนนได้เช่นกันการลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเพิ่มการตั้งด่านตรวจเมาแล้วขับ นอกจากนี้ การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการทั้งประเทศไม่ใช่ทำแค่ส่วนกลาง เพราะข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2562 สรุปมี 283 อำเภอเสี่ยง หรือ 32% ของอำเภอทั่งประเทศ มีการคำนวณคร่าวๆ ว่าหากดูแลได้ดี จะสามารถลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ 65%”  น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

  น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า 283 อำเภอเสี่ยง ส่วนใหญ่ เป็นอำเภอเมือง ที่มีพื้นที่กว้าง ความเสี่ยงหลากหลายทั้งคน รถ ถนน การดำเนินการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอาจทำได้ยาก ดังนั้น สสส.จึงลงไปสนับสนุนความร่วมมือตั้งแต่ระบบตำบล ซึ่งมีเครือข่ายหมออนามัย ที่มีความใกล้ชิดกับคนในพื้นที่ รู้สภาพปัญหาของพื้นที่ดี ทั้งนี้ สสส.ทำงานร่วมกับหมออนามัยมานาน หลายคนเกษียณอายุแล้ว ระยะหลังเริ่มสนับสนุนหมออนามัยรุ่นใหม่ให้ขับเคลื่อนงาน ส่วนผู้ใหญ่ก็ขยับไปเป็นที่ปรึกษา ทำให้การทำงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น และหวังว่าจะเป็นโครงการที่เข้าตากระทรวงมหาดไทย ให้หมออนามัยเป็นทีมสุขภาพที่หนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ในโครงการตำบลขับขี่ปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ปัจจัยความสำเร็จคือความร่วมมือกันของประชาชนและเครือข่ายในพื้นที่และการเชื่อมประสานการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ โดยบางครั้งการเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาง่ายๆ ให้สำเร็จก่อน ถือเป็นกำลังใจในการเดินหน้าสู่การแก้ไขปัญหาที่ยากขึ้น

   นายบุญเรือง ขาวนวล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ  กล่าวว่า หน้าที่ของเครือข่ายหมออนามัยฯ คือการให้โจทย์และความรู้ทางวิชาการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทำงาน สร้างโอกาส ซึ่งจากนี้การจัดการเรื่องสุขภาพจะอยู่ที่ชุมชน จะทำอย่างไรให้พลเมืองตื่นรู้ มาทำให้ชุมชนของตัวเองน่าอยู่ ปลอดภัย แฮปปี้กันทุกฝ่าย แม้จะมีอุปสรรคการทำงานบ้างแต่ประเมินแล้วคนให้คะแนนเกือบเต็ม100 เพราะคนทำงานไม่มีท้อ แต่มีการปรับการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์โดยเฉพาะตอนนี้มีโควิดระบาดก็ปรับการทำงานให้เชื่อมโยง ครอบคลุมป้องกันโรค และการลดอุบัติเหตุทางถนนควบคู่กันไป

  นายธนาธิป บุญญาคม  นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผอ.รพ.สต.ตำบลสระพัฒนา  กล่าวว่าหมออนามัยมีความใกล้ชิดและรู้จักพื้นที่ชุมชนของตัวเอง ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานนโยบายกระทรวง ระดับประเทศ จังหวัด และระดับพื้นที่ ในเรื่องการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงงานลดอุบัติเหตุทางท้องถนน และขยายต่อการทำงานให้กับหมออนามัยรุ่นสู่รุ่น เรียกว่ายุทธศาสตร์ความดีต่อความดี เลือกจุดเสี่ยงแก้ปัญหาพื้นที่ และแก้ไขพฤติกรรมของคน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน จึงเข้าไปทำงานให้ความรู้ในโรงเรียน จากเดิมทำงานแบบจิตอาสาก็มีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น รับลูกไปดำเนินการต่อทำให้งานป้องกันอุบัติเหตุเติบโต มีเจ้าภาพในชุมชน อีกส่วนหนึ่งนับเป็นการฟอร์มทีมการทำงานเพื่อรองรับกับการสู้กับภัยสุขภาพต่างๆ ได้

  น.ส.ดวงสมร  ดวงใจ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน สำนักงานสาธารณสุขอำเภออรัญประเทศ  กล่าวว่า ที่อรัญประเทศยังมีผู้ติดเชื้อโควิดทุกวัน และเป็น 1 ใน 3ของอำเภอที่มีอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในจังหวัดสระแก้ว จึงเข้าร่วมโครงการตำบลขับขี่ปลอดภัย ร่วมกับอสม. อบต.คลองน้ำใส โดยเริ่มวิเคราะห์จุดเสี่ยงในพื้นที่ วิเคราะห์ปัญหาชุมชน และดูความพร้อมเดิมที่มีอยู่ ก่อนวางแผนแก้ปัญหา เริ่มจากจุดเสี่ยงในพื้นที่ที่แก้ไขได้ง่ายก่อน แล้วดำเนินการแก้ไขโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก เช่น แขวงการทาง ดูแลเรื่องถนนต่างๆ ยกตัวอย่างที่เราทำคือการนำยางรถยนต์เก่ามาทำแบริเออร์ป้องกันอุบัติเหตุ ทำได้ 1 สัปดาห์ ช่วยชีวิตคนได้  4 คน ขณะนี้มีการขยายการทำงานไปยังพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น

  ขณะที่นายอภิชาต  เมืองไชย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.สาธารณสุขอำเภอรัตนวาปี กล่าวว่า ทุกวันนี้ยังมีประชาชนที่ติดโควิด และทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาทุกวัน ทางเราทำทั้งเรื่องการดูแลผู้ติดเชื้อ ควบคุมป้องกันโรค การขับขี่ปลอดภัย ทำควบคู่กันไป โดยทางฝ่ายปกครองรัตนวาปีเลือกพื้นที่นี้ และประกาศเป็นพื้นที่ขับขี่ปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนตระหนัก  มีการอบรมนักเรียน ผลักดันขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น ได้มีการจัดทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ต่างตำบล โดยดำเนินการแล้วใน 2 ตำบล รอสถานการณ์โควิดคลี่คลายจะขยายไปยังตำบลอื่นๆ มากขึ้น

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *