เมื่อเร็วๆนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ (ส.ส.พปชร.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) พร้อมผู้บริหารมหาวิทยาลัย นายกระจัด กาญจนคลอด ผู้อำนวยการส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 7 กรมชลประทาน และนายธนกฤติ ปุรินสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลโพธิ์ทอง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ลงพื้นที่การก่อสร้างโครงการแก้มลิง มวล.พร้อมอาคารประกอบ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค ปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนและรองรับการใช้น้ำของผู้ใช้บริการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (รพ.ศกพ.มวล.)
รองศาสตราจารย์ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.พปชร.กล่าวระหว่างลงพื้นที่ดังกล่าวว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือแก้มลิง มวล.เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัย กรมชลประทาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบ บนเนื้อที่ 208 ไร่ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมชลประทาน ปี 2565 วงเงินงบประมาณ 117.5 ล้านบาท ได้รับการออกแบบโดย ส่วนวิศวกรรม ฝ่ายออกแบบ สำนักงานชลประทานที่ 15 มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 สามารถกักเก็บน้ำได้จำนวน 2,400,000 ลูกบาศก์เมตร คาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนได้ นอกจากนี้ในอนาคตจะได้ร่วมกับกรมทางหลวงชนบท เพื่อพัฒนาถนนเส้นรอบอ่างเก็บน้ำ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจร ลดความแออัดด้านการคมนาคมของผู้ใช้บริการ รพ.ศกพ.มวล.อีกทาง
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มวล. กล่าวว่า ขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ในการประสานงานด้านงบประมาณทำให้เกิดโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เนื่องด้วยภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย คือ เรื่องการเรียนการสอน จึงต้องอาศัยกระทรวงมหาดไทย กรมชลประทานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ช่วยในการประสานงานขับเคลื่อนเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอท่าศาลา การสร้างอ่างเก็บน้ำจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำใต้ดิน มีแหล่งน้ำดิบให้กับชุมชนในระยะยาว ตัวอ่างเก็บน้ำจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท่าศาลาในการดึงน้ำไปใช้ผลิตน้ำประปาในอนาคต และส่วนหนึ่งจะตั้งโรงประปารองรับการใช้น้ำใน รพ.ศกพ.มวล.
สำหรับโครงการแก้มลิง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งอยู่บริเวณหลัง รพ.ศกพ.มวล. โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1) งานดินขุด งานดินถมบดอัดแน่น งานถนนรอบแก้มลิง และงานดินอื่น ๆ ดำเนินงานโดยสำนักบริหารเครื่องจักรที่ 7 กรมชลประทาน ซึ่งได้เข้ามาขุดร่องน้ำและสูบน้ำออกจากสถานที่ก่อสร้าง โดยได้เริ่มงานเมื่อต้นเดือน มกราคม 2565 2) งานอาคารประกอบทั้งหมด ดำเนินงานโดยโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ต้นเดือน มกราคม 2565 เช่นกัน และจะแล้วเสร็จทั้งหมด ภายในเดือน กันยายน 2565 นี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคในพื้นที่รพ.ศกพ.มวล.และพื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย ใช้เพื่อการเกษตรกรรม และใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา ตลอดจนประโยชน์ในด้านการช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย