เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบโล่พร้อมใบรับรอง และเกียรติบัตร โครงการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง ให้กับผู้นำชุมชนในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง 9 แห่ง และผู้นำชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 8 แห่ง รวมทั้งสิ้น 17 แห่ง โดยได้รับการรับรองมาตรฐานจาก ศูนย์วิจัยตรวจประเมินและให้การรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า โครงการศึกษาการพัฒนาชุมชนโครงการหลวงเพื่อเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มโครงการฯ ขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาในระดับชุมชนให้ตื่นตัวและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยลดกิจกรรมการดำรงชีวิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาไปสู่สังคมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมทั้งสร้างขีดความสามารถการบริหารจัดการชุมชน ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและเกิดความยั่งยืนได้ในที่สุด
ในปีนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่เฉพาะ ได้รับรางวัลถึง 8 ชุมชน ได้แก่
1.ระดับดีเยี่ยม ชุมชนบ้านอาแบ พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง จังหวัดเชียงราย
2.ระดับดีมาก ชุมชนบ้านแม่ลามาหลวง พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
3.ระดับดีมาก ชุมชนบ้านปู่คำห้วยแห้ง พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
4.ระดับดีมาก ชุมชนบ้านใหม่พัฒนา พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี จังหวัดเชียงราย
5.ระดับดีมาก ชุมชนบ้านแม่มะลอ พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ จังหวัดเชียงใหม่
6.ระดับดีมาก ชุมชนบ้านน้ำแป่ง พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงน้ำแป่ง จังหวัดน่าน
7.ระดับดีมาก ชุมชนบ้านนาหมัน พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม จังหวัดน่าน
8.ระดับดี บ้านห้วยปูหลวง พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่เฉพาะแม่แฮหลวง จังหวัดเชียงใหม่
“ทั้งนี้สถาบันฯ ขอแสดงความยินดีกับชุมชนที่ได้รับรางวัล โดยหวังว่าในระยะต่อไปคนในชุมชนและรวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์พัฒนาโครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ทั้ง 17 แห่ง จะพร้อมใจร่วมกันรักษามาตรฐานและปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่นเพิ่มเติม เพื่อให้ชุมชนโครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เป็นแหล่งการเรียนรู้ของประเทศไทยในบริบท “ชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน” ที่มีวิถีการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวทิ้งท้าย