จากเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาพื้นที่สูงของ สวพส. คือ “ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความอยู่ดีมีสุข ด้วยการวิจัยและพัฒนา สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยเน้นการพัฒนาบนฐานความรู้ เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพที่ตรงตามปัญหา ความต้องการ และภูมิสังคมของชุมชนภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนและการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน
เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ สวพส. ได้เตรียมจัดทำหลักสูตร “นักพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง” เพื่อให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องแก่บุคลากรภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานบูรณาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้นำชุมชนบนพื้นที่สูง ที่เป็นกำลังในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ก่อให้เกิดเป็นกระบวนการวางแผนการพัฒนาชุมชนที่มีคุณภาพ ควบคู่กับการใช้แผนที่ดินรายแปลงมาใช้วิเคราะห์ข้อมูล ปัญหา เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนถูกต้องตรงกัน โดยจะนำไปสู่การวางแผนการพัฒนาที่เป็นระบบฐานข้อมูลของความรู้ และข้อมูลร่วมกันกับหน่วยงานทุกภาคส่วน
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า รูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงได้ยึดตามแนวทางโครงการหลวง เน้นการบรรลุผลสัมฤทธิ์ร่วมกันของหน่วยงานในรูปแบบบูรณาการตามบทบาทและภารกิจเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่ และความต้องการของคนในชุมชนเป็นศูนย์กลาง ตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) มีกลไกการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของหน่วยงานเครือข่าย 33 หน่วยงาน ทั้งในระดับ พื้นที่ จังหวัด และส่วนกลาง
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการขยายแนวทางตามแบบโครงการหลวงและการพัฒนาพื้นที่สูงในหลาย ๆ ประเทศ อาทิ ประเทศเมียนมา, ภูฎาน โดยประเทศเหล่านี้ สามารถนำแบบอย่างของความสำเร็จด้วยองค์ความรู้โครงการหรือนำ “นักพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง” ที่ สวพส. กำลังจัดทำไปปรับใช้ เนื่องจากกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ถูกกลั่นกรอง สัมฤทธิ์ผลมาแล้วหลายโครงการ และหลักสูตรยังสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตผ่านระบบออนไลน์ในลักษณะของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสร้างขีดความสามารถร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานบูรณาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้นำชุมชนบนพื้นที่สูง
นายเมธี พยอมยงค์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวถึง หลักสูตร“นักพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง” เพิ่มเติมว่า หลักสูตรนี้นอกจากจะช่วยเสริมสร้างให้บุคลากรภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานบูรณาการ ผู้นำชุมชนบนพื้นที่สูง และบุคลากรของ สวพส. เข้าใจในหลักและวิธีการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงอย่างลึกซึ้งแล้ว ยังสามารถนำไปบูรณาการกิจกรรมการพัฒนาให้สอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย รวมทั้งจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน เนื้อหาวิชาจะประกอบด้วย การขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรมและผลงานวิจัย การพัฒนาอาชีพภายใต้ระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกษตรมูลค่าสูง การบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตรบนพื้นที่สูงด้วยสถาบันเกษตรกร การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง การบริหารจัดการน้ำบนพื้นที่สูง การวิเคราะห์และวางแผนการพัฒนาชุมชน ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สูง
รูปแบบการฝึกอบรมจะไม่เน้นการบรรยายในห้อง แต่จะเป็นการเรียนรู้จากพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาด้านต่างๆ ของโครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในพื้นที่ อาทิ การใช้แผนชุมชนและแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจ กำหนดแนวทางและกิจกรรมการพัฒนา การปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนต่อไร่สูง การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการสนับสนุนอาชีพนอกภาคเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงไปดูและพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงอื่นที่มีบริบทและวิธีการแก้ไขปัญหาของพื้นที่อีกด้วย
สำหรับวิทยากรของหลักสูตรจะเป็นบุคลากรจาก สวพส. ทั้งผู้บริหาร ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง หัวหน้ากลุ่มลุ่มน้ำ นักวิชาการเฉพาะด้าน ตลอดจนเกษตรกรผู้นำ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการรุ่นแรกในเดือนสิงหาคม 2565 ใช้เวลาอบรมรุ่นละ 5 วัน ซึ่งวันแรกจะเป็นการปูพื้นฐานเกี่ยวกับแนวคิด พัฒนาการ รูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง กับการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สูง จากนั้นจะเป็นการลงพื้นที่ดำเนินงาน ของ สวพส. เพื่อรับทราบบริบทและการทำงานจริง การบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและความเอาจริงเอาจังของเกษตรกรจนสามารถแก้ไขปัญหาของพื้นที่สูงของตนเองได้จริง ในระหว่างการลงพื้นที่จะมีการแบ่งกลุ่มให้ผู้รับการอบรมได้ศึกษา วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการประยุกต์ใช้รูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ของพื้นที่สูงในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีอีกด้วย