
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่โรงแรมมิราเคิลฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ นางสิรินยา เบอร์บริดจ์ บิชอพ หรือ “ซินดี้” นางแบบ และดารานักแสดง ในฐานะผู้ก่อตั้งนิทรรศการพลังสังคม DontTellMeHowToDress สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการเปิดตัวเว็บไซต์ DontTellMeHowToDress พร้อมทั้งเสวนาหัวข้อ“ส่องมายาคติ กระบวนการยุติธรรม กับการคุกคามทางเพศ”
นางสิรินยา เบอร์บริดจ์ บิชอพ หรือ “ซินดี้” นางแบบ และนักแสดง ในฐานะผู้ก่อตั้งนิทรรศการพลังสังคม DontTellMeHowToDressกล่าวว่า ตนเองเคยเป็นหนึ่งในผู้ที่เคยถูกคุกคามทางเพศทั้งๆ ที่ไม่แต่งตัวโป๊ จึงมองว่าความคิดเช่นนี้สะท้อนมายาคติว่าเป็นเพราะการแต่งตัว ถึงทำให้ผู้หญิงถูกล่วงละเมิด ถ้าคิดเช่นนี้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเป็นการเอาความผิด หรือความรับผิดชอบมาสู่ผู้หญิง ควรมองถึงผู้ถูกกระทำ และรณรงค์ให้เห็นต้นเหตุของปัญหาจริง ๆ เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเพศ เพศใดเพศหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่า หลังจากนั้นก็ร่วมขับเคลื่อนงานด้านสิทธิผู้หญิงมาโดยตลอด และได้จัดนิทรรศการ DontTellMeHowToDress ขึ้นมา โดยร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นำเอาเสื้อผ้าของผู้เสียหายจริง แม้กระทั่งเด็ก มาจัดแสดงเพื่อกระชากความรู้สึกและให้สังคมเห็นว่าเป็นเพราะการแต่งกายจริงหรือไม่ พร้อมรณรงค์ให้ความรู้ตามมหาวิทยาลัยและจัดงานตามสถานที่ต่าง ๆ แต่เพราะสถานการณ์โควิด จึงปรับมาเป็นรูปแบบออนไลน์ ทั้งนี้ตนเองพบว่าสังคมไทยมีการถกเถียงประเด็นนี้กันมากขึ้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

“อยากให้กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้นคือการรับแจ้งความควรละเอียดอ่อนมากกว่านี้ ไม่ซ้ำเติมผู้ถูกกระทำด้วยการถามเรื่องการแต่งกาย การไกล่เกลี่ย เพราะมีความกดดันมาก หากทำผิดร้ายแรงควรมีการลงโทษที่แรงพอสมควรกับพฤติกรรมนั้น และมีระบบการซัพพอร์ตผู้ถูกกระทำด้วย แต่ที่สามารถทำได้เลยคือเรื่องการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ในชุมชนมากขึ้น ช่วยกันเป็นหูเป็นตา” นางสาวสิรินยา กล่าว
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมข่าวสถิติความรุนแรงทางเพศของมูลนิธิฯ ปี 2556-2562 พบว่าข่าวข่มขืน สูงเป็นอันดับ1 คิดเป็น 40-50% ข่าวพยายามข่มขืน 12-13% ข่าวอนาจาร 10-17% แนวโน้มสูงขึ้น ส่วนอายุผู้ถูกกระทำมากสุด11-15 ปี รองลงมา16-20 ปีและ6-10 ปี ซึ่งปัจจัยกระตุ้นส่วนใหญ่พบว่ามีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตามด้วยยาเสพติด และด้านความสัมพันธ์ พบว่า เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและคนในครอบครัว เครือญาติสูงที่สุด รองลงมาเป็นคนแปลกหน้า และคนรู้จักผ่านสื่อต่างๆ ขณะที่ อาชีพผู้กระทำพบเป็นผู้มีฐานะทางสังคมมากขึ้น เช่น ครู อาจารย์ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง อดีตทหาร เจ้าของธุรกิจ ตามลำดับ และพบผู้กระทำเป็นพระสงฆ์ ผู้อยู่ในตำแหน่งหัวหน้า เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสถิติดังกล่าวสะท้อนปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และโครงสร้างความคิด ความเชื่อ ค่านิยม มายาคติแบบปิตาธิปไตยฝังราก ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าขอความช่วยเหลือ ไม่กล้าดำเนินการทางกฎหมาย

“มูลนิธิฯ พบว่า ผู้ถูกกระทำถูกกดทับหลายชั้น คือ ชั้นแรกจากการถูกล่วงละเมิด ส่งผลให้เกิดความกลัว อาย ทำลายความเป็นมนุษย์ เกิดอาการทางจิตใจ โทษตัวเอง ถูกผู้กระทำข่มขู่ แสวงหาผลประโยชน์ ชั้นที่สองจากครอบครัว คนใกล้ชิดที่อับอายจึงไม่ให้แจ้งความ หลายคนถูกหลอกจากคนรักคนใกล้ชิดจนเกิดภาวะชัตดาวน์ นิ่งไม่ต้องการต่อสู้กลับ เป็นต้น ชั้นที่สามจากกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ขั้นตอนการสอบสวน สืบสวน และการดำเนินคดี แม้กฎหมายจะแก้ไขให้คดีข่มขืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความได้ อายุความ 20 ปี แต่กลับผลักภาระให้ผู้เสียหายพิสูจน์ความจริงด้วยตนเอง พิสูจน์ความยินยอม ขณะที่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ถูกฝึกอบรมให้มีความเข้าใจผู้เสียหาย และชั้นที่สี่จากการกระทำซ้ำของสื่อ สังคมออนไลน์ คนในชุมชน เพื่อนบ้านถูกสังคมตีตรา” นางสาวอังคณา กล่าว

ด้านรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากงานวิจัย เรื่องเพศวิถีในคำพิพากษากับการลงโทษผู้เสียหายในกระบวนการยุติธรรม สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นให้เห็นจำนวนมาก เพราะอคติยังอยู่ในสังคม และยังมีความเข้าใจแบบถูกฝังหัวมาว่าผู้หญิงถูกข่มขืนเพราะการแต่งกาย ทั้งที่เป็นสิทธิที่ควรได้รับการปกป้อง อีกแง่หนึ่งคิดว่าความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจระหว่างชายหญิง ทำให้การคุกคามทางเพศยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น กรณีนักการเมือง ผู้บริหารระดับสูงในองค์กร คุกคามทางเพศผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ เป็นต้น อีกอย่างคือปัญหากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยตามไม่ทัน ไม่เข้าใจ และการลงโทษผู้กระทำ ซึ่งมีคดีจำนวนมากที่ผู้เสียหายไม่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเยียวยาความเสียหายได้ ทางออกในการแก้ปัญหาคือรณรงค์ทำความเข้าใจในสังคม คลี่แต่ละประเด็นให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่สังคมต้องให้ความสนใจ ไม่ใช่นั่งค้นหาว่าผู้หญิงทำตัวอย่างไร แต่งตัวอย่างไร ยินยอมหรือไม่ แต่ต้องตรวจสอบคนที่เป็นผู้กระทำความผิดมากกว่า กระบวนการยุติธรรมต้องปรับตัวให้มากกว่าที่เป็นอยู่