เมื่อวันที่ 22 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2565 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดฝึกอบรม หลักสูตร “นักพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง รุ่นที่ 1 หรือ นพส.1” (Training Program on Sustainable Highland Development Using the Royal Project System #1) โดยมีพิธีเปิด ณ ห้องชัยพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สวพส. ได้รับเกียรติจาก นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม และได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ กรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง และนายชวลิต ชูขจร กรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ร่วมพิธีด้วย
นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ กล่าวว่า หลักสูตร “นักพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง รุ่นที่ 1 (นพส.1)” นี้ เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรของทุกหน่วยงาน ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานพัฒนาพื้นที่สูง และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ อันจะก่อให้เกิดการประสานพลัง ในการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและบ้านเมือง
หลักสูตรการฝึกอบรมนี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการปฏิบัติจริงของ สวพส.และหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติงานพัฒนาพื้นที่สูงที่ผ่านมา จึงนับว่าเป็นหลักสูตรที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถเข้าใจหลักการและวิธีการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันที และที่สำคัญยังสามารถสร้างความร่วมมือกับ สวพส. ในการกระจายการพัฒนาไปสู่พื้นที่สูงต่าง ๆ ได้ ตามนโยบายเป้าหมายของรัฐบาล
หลักสูตร “นักพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง” สวพส. ได้พัฒนาหลักสูตรและเนื้อหาจากประสบการณ์และผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของพัฒนาพื้นที่สูงของโครงการหลวงและ สวพส. ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เช่น การได้รับรางวัลเลิศรัฐของรัฐบาล และแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs (SDG Good Practices) เป้าหมายที่ 2, 12, 13 และ 15 ของสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs – UN DESA) ซึ่งเนื้อหาการฝึกอบรมได้เน้นการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจโดยการเรียนรู้จากตัวอย่างผลสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่สูงในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ซึ่งมีทั้งการบรรยายให้ความรู้โดยวิทยากรที่เป็นผู้ปฏิบัติจริงและมีผลงานเชิงประจักษ์ การศึกษาดูงานและถอดบทเรียนจากพื้นที่และกิจกรรมตัวอย่างที่เป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ กิจกรรมกลุ่ม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าอบรม