
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยงาน The Promotion of Family Health Association (PFHA) จากลาว และ Research and Training Centre for Community Delelopment (RTCCD) จากเวียดนาม ในเครือข่าย IOGT-NTO Movement องค์กรรณรงค์เชิงนโยบายแอลกอฮอล์ ประเทศสวีเดน และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ศึกษาดูงานองค์กรต้นแบบขับเคลื่อนสุขภาวะ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า การจัดให้มีกลไกที่ยั่งยืนเรื่องงานสร้างเสริมสุขภาพ ในรูปแบบของ สสส. ที่รัฐบาลไทยก่อตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นองค์กรรัฐที่มีความเป็นอิสระ โดยได้รับรายได้จากส่วนเพิ่ม 2% ของภาษีสรรพสามิตจากสุราและยาสูบ ซึ่งถือเป็นกลไกที่เหมาะสมตามหลักการ ที่กำหนดให้ผู้ที่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ คือ ผู้จ่ายภาษี ซึ่งเป็นกลไกนวัตกรรมการเงิน การคลังเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และช่วยเหลือด้านวิชาการ โดยเฉพาะบทเรียนของ สสส. สามารถนำไปปรับใช้ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำในการจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ ที่สะท้อนให้เห็นว่าได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งด้านสุขภาพและรายได้ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบกับงบประมาณกลางของรัฐ ที่ต้องนำไปใช้ในโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศ
นายณัฐพันธุ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สสส. สานพลังกับภาคีเครือข่าย ผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ระบบสังคม ที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี ด้วยการสร้างความเข้มแข็งด้านงานสร้างเสริมสุขภาวะ โดยเฉพาะการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดภาระของประเทศด้านสังคมและเศรษฐกิจ จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่คนไทยเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดทุกปี และลดปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน ความรุนแรงในครอบครัว
“ยินดีอย่างยิ่งที่องค์กรด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับโลก คือ IOGT-NTO Movement ที่ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนงานจากเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว และ เวียดนาม เล็งเห็นความสำคัญของ สสส. ขอเข้ามาศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านการเป็นต้นแบบนวัตกรรมการเงินการคลังที่ยั่งยืน เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ และแนวทางปฏิบัติที่โดดเด่น ในงานควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะในภาพรวมของ สสส.” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว

Mr.Sanou Sengkhameuay ผู้ประสานงานโครงการ จาก Promotion of Family Health Association (PFHA.BK) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า ได้รับทราบชื่อเสียงของ สสส. เนื่องจากที่ผ่านมาได้เห็นสื่อโฆษณาของ สสส ในสื่อออนไลน์และโทรทัศน์ เพราะคนลาวดูโทรทัศน์จากเมืองไทย การที่ สสส. โฆษณาในทีวีทำให้คนลาวได้เรียนรู้ไปด้วย โดยเฉพาะผลต่อการรับรู้เรื่องผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใน สปป.ลาว ที่ยังไม่มีหน่วยงานแบบ สสส. มาทำหน้าที่ป้องกันปัจจัยเสี่ยงของแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ระหว่างที่มาดูงานได้เรียนรู้หลายๆ กิจกรรมเช่น กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรณรงค์ชุมชนคนสู้เหล้า การเปลี่ยนแปลงค่านิยมสังคมในงานประเพณีต่างๆ โครงการป้องกันแก้ปัญหานักดื่มหน้าใหม่เยาวชนในชุมชนและสถานศึกษา รวมทั้งในศูนย์เด็กเล็ก ได้เห็นความภูมิใจของผู้ที่เลิกเหล้า “คนหัวใจเพชร” เห็นชุมชนร่วมแก้ปัญหาชวน ช่วย เชียร์ และยังต่อยอดไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ทั้งชุมชนหนองสองห้อง จังหวัดสุมทรสาคร และกลุ่มเยาวชนบางจากชุมชนคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มเยาวชน YSDN ชลบุรี ที่ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะด้านสุขภาพ แต่แก้ปัญหารายได้ ความเป็นอยู่ และความเข้มแข็งของครอบครัว โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชน และนวัตกรรมปลุกพลังในกลุ่มเด็กปฐมวัย ที่สร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่วัยอนุบาล การได้มาดูงานครั้งนี้รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก ที่ได้เรียนรู้การทำงานของเครือข่ายงดเหล้า และ สสส. ซึ่งมีงานหลายอย่างที่น่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้ได้

Ms. Nguyen Hong Hanh ผู้จัดการโครงการ จาก Research and Training Centre for Community Development (RTCCD) เวียดนาม กล่าวว่า สสส. เป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบด้วยการใช้ภาษีสรรพสามิตเพื่อสุขภาพ ซึ่งประเทศเวียดนามมีกองทุนที่เน้นเฉพาะการควบคุมบุหรี่ยังไม่ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ รวมถึงกลุ่มโรค NCDs โดยเครือข่ายพันธมิตร NCDs เวียดนาม มีแผนเสนอแก้ไขกฎหมายสรรพสามิต เพื่อให้มีกองทุนขับเคลื่อนประเด็นเรื่อง NCDs โดยความสำเร็จของ สสส.ที่สามารถลดการบริโภคเหล้าบุหรี่และปัจจัยเสี่ยงสุขภาพต่างๆ จะเป็นหลักฐานที่ดี ที่ผู้กำหนดนโยบายควรรับรู้เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ สสส. ยังเป็นแบบอย่างที่ดีของการทำงานร่วมกับภาครัฐ สถานบันการศึกษาและภาคประชาสังคม หรือแนวทางสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ซึ่งการขับเคลื่อนประเด็นเรื่อง NCDs ของประเทศเวียดนามควรเพิ่มความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ให้มากขึ้น

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียน จากรายงาน Global Status Report on Alcohol and Health ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในรายงานปี 2557 ที่แสดงข้อมูลในปี 2003-2005 พบว่าไทยมีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อหัวประชากรติดอันดับหนึ่งของประเทศกลุ่มอาเซียน คือ 6.8 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี แต่จากรายงานปี 2018 แสดงข้อมูลปี 2546 – 2560 พบว่า สปป.ลาว มีอัตราการดื่มสูงกว่าไทย คือ 10.4 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี ส่วนเวียดนาม พบการดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้นจากเดิมในอัตรา 3.8 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี ปัจจุบัน เพิ่มเป็น 8.3 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี เท่ากับไทยในปัจจุบัน จะเห็นว่า การเพิ่มขึ้นของไทยไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับลาวและเวียดนาม
“การมีองค์กรสร้างเสริมสุขภาพอย่าง สสส. ที่หนุนเสริมบทบาทภาคประชาสังคม และนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์ภาครัฐ รวมทั้งกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ปี 2551 ที่เข้มแข็ง ทำให้สถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยมีแนวโน้มลดลง การมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตั้งแต่วันที่ 17- 27 ต.ค. 2565 ที่ตัวแทนจาก สปป.ลาว และเวียดนามมาเข้าร่วม นอกจากมาแลกเปลี่ยนแล้ว ยังได้เชื่อมประสานความร่วมมือเฝ้าระวังการตลาดของภาคธุรกิจ โดยการรณรงค์ร่วมกันในงานประเพณีวัฒนธรรมปลอดเหล้า เพื่อสร้างค่านิยมการไม่ดื่มเหล้าเบียร์ ในฐานะที่เป็นกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน” นายธีระ กล่าว