ตัวแทนผู้ค้าสลาก อัดยับรัฐบาล”ลุงตู่” ปัญหาสลากเกินราคา ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง คนตัวใหญ่ได้ประโยชน์ ผู้ค้าตัวเล็กใกล้ตาย คนลงทะเบียนขายเพิ่ม แต่กลับไปลดโควตา ขัดหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ย้ำให้เห็น”ใครคือคนทำราคาแพง”
นายอำนวย กลิ่นอยู่ ประธานสมาพันธ์คนพิการผู้ค้าสลากประเทศไทย เปิดเผยกับสื่อมวลชน หลังบอร์ดสำนักงาน สลากกินแบ่งรัฐบาล มีมติปรับลดโควตาสลากการแบ่งรัฐบาล ให้ผู้ค้าลงทะเบียน จากเดิมคนละ 5 เล่ม หรือ 500 ฉบับ ต่อคน เหลือ 3 เล่ม หรือ 300 ฉบับ เพื่อเปิดทางเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิ์ กดรับโควต้าสลากจากตู้ ATM และ เข้าสู่ระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ของสำนักงานสลากฯ
นายอำนวย มองว่า แนวทางนี้เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหามากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นการแก้ปํญหาที่ไม่เข้าใจถึงโครงสร้าง และ หลักการพื้นฐาน ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในปัจจุบัน ผู้ค้าที่ลงทะเบียนมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็ฯอาชีพที่ให้ประชาชนซึ่งมีรายได้น้อยเข้าถึง เมื่อมีผู้ค้าเพิ่มขึ้น และ ผู้บริโภคมีความต้องการในสลากเพิ่มขึ้นในทุกงวดเช่นกัน การแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือ “พิมพ์เพิ่มจำนวนสลาก” เพื่อกระจายให้ผู้ลงทะเบียนสามารถได้สิทธิ์ไปค้าขายตามจำนวนที่เหมาะสม อย่างเท่าเทียมกันทุกคน
แต่เมื่อมีสลากไม่เพียงพอ อีกทั้งรูปแบบการลงทะเบียนไม่สอดรับกับผู้ค้าทุกระดับ เช่น คนพิการ หรือ คนสูงอายุ ทำให้เกิดปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียน จึงทำให้มีผู้ค้ากลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ แต่ลูกค้าอีกกลุ่มไม่สามารถทำการขายได้ และ เมื่อสลากที่ได้โควตานำออกมาขายไม่สอดรับกับผู้ลงทะเบียน จึงเป็นช่องทางให้มีคนบางกลุ่ม สามารถกว้านซื้อ ในจำนวนที่เหลืออีกมาก ไปขายปั่นราคา เกินกว่ากฎหมายกำหนด
ย้อนกลับไปช่วงก่อนปี 2557 ผู้ค้าสลาก ได้รับโควตากันคนละ 10 เล่ม ปัญหาสลากเกินราคาไม่พบมากเช่นนี้ กระทั่ง เมื่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหาร และ มีการแก้ปัญหาสลากฯเกินราคา โดยปรับเปลี่ยนให้ผู้ค้าได้โควตาคนละ 5 เล่ม เพื่อเปิดทางให้ผู้ต้องการประกอบอาชีพเข้าถึง แต่ในความเป็นจริง การเข้ามาประกอบอาชีพนี้ไม่สามารถทำได้ง่ายเพื่อเข้าถึงกัน จึงกลายเป็นมีผู้ค้ารายใหญ่เติบโต และ ได้โควตาไปจำนวนมากกว่าเดิม
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ แพลตฟอร์มออนไลน์ ขยายตัวจนกระทบผู้ค้าตัวเล็ก คือ การที่สลากไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า และ ผู้ค้ารายย่อยไม่สามารถรับโควต้าตามจำนวนที่เหมาะสม จึงทำให้เกิดการกว้านซื้อสลากจากผู้ค้ารายย่อยในราคาเกินกว่ากฎหมายกำหนด ก่อนไปจำหน่ายต่อพร้อมเพิ่มราคา ซึ่งการกระทำดังกล่าว ผิดกฎหมายอย่างชัดเจนแต่ไม่มีการจับกุม
สำหรับปัญหาสลากแพง ในฐานะ ผู้ค้าตัวเล็ก มองว่า แนวทางแก้ไข เพียงแค่ยึดหลักวิชา “เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น” มาใช้ คือ ผลิตจำนวนสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ผู้ค้ากับผู้บริโภคเกิดความสอดรับกัน เช่น ก่อนหน้านี้ได้รับโควตาคนละ 5 เล่ม หรือ 500 ฉบับ แต่มีผู้ค้าเพิ่มจาก 1 แสนคน เป็น 5 แสนคน เพียงแค่พิมพ์สลากเพิ่มให้พอดีกับคน 5 แสน เพิ่มให้ถือโควตา 5 เล่ม เท่าเดิม ซ้ำยังสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและรัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย ซึ่งอาจไม่ต่ำกว่าปีละ 2.28 แสนล้านบาท แต่น่าแปลกใจว่า เหตุใดรัฐบาลกลับเลือกวิธี “ลดจำนวนโควตา” เพราะสุดท้ายปัญหาก็วกกลับมาจุดเดิม
ด้าน นายสำอางค์ ซ่อนกลิ่น ประธานชมรมผู้ค้าสลากรากหญ้าทั่วไทย ระบุเพิ่มเติม กลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อย เตรียมรวมตัวออกมาเคลื่อนไหว เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลออกมาแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจเคลื่อนตัวไปเรียกร้องถึงรัฐสภา โดยเตรียมยื่นหนังสืออ เสนอขั้นตอนการปฏิรูปสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถึง ประธานรัฐสภา เพื่อให้ผู้มีอำนาจ ฟังเสียงสะท้อนของประชาชนที่ได้รับปัญหาดังกล่าว