เมื่อเร็วๆนี้ ที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) นำคณะเข้าพบ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นางวนบุษป์ อรรถวิทย์ ผู้อำนวยการส่วนจัดการท่องเที่ยวและนันทนาการ และนางสาวสุทธาทิพย์ มุสิกอง ผู้อำนวยการส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ เพื่อหารือ แนวทางการสื่อสารรณรงค์ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ให้มีความรักสุขภาพตัวเอง ตลอดจนการเคารพสิทธิของผู้อื่น
เภสัชกรสงกรานต์ เปิดเผยว่า ในการเข้าพบครั้งนี้เพื่อหารือแนวทางการสื่อสารรณรงค์ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่สาธารณะ และความร่วมมือในการจัดทำสื่อรณรงค์ต่างๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ สร้างความเข้าใจในการเตรียมตัว มาท่องเที่ยวธรรมชาติในเขตอุทยานฯ โดยไม่รบกวนผู้อื่น ไม่ทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในพื้นที่อุทยานฯ เมื่อเกิดความมึนเมาก็อาจจะมีการปาร์ตี้ พูดคุยกันเสียงดัง หรือเปิดเพลงเสียงดังรบกวนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ รวมถึงเป็นการรบกวนสัตว์ป่าด้วย ดังที่มีกรณีตัวอย่างปรากฎผ่านสื่อเมื่อเร็วๆ นี้ ดังนั้นการหารือกันในวันนี้ก็เพื่อแลกเปลี่ยนคามเห็น พร้อมวางแนวทางแก้ไข ร่วมกันจัดทำกิจกรรมและสื่อประชาสัมพันธ์ อาทิ การทำคลิปวิดีโอสั้นเพื่อเป็นคู่มือแนวทางการปฏิบัติที่ควรทราบก่อนเดินทางท่องเที่ยวกับอุทยานฯ
เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังถือโอกาสเดียวกันนี้ในการหารือแนวทางการรณรงค์เพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ป่า เพื่อปัญหาลดฝุ่นละออง และหมอกควัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วไป โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและพิจารณาในหลายมิติ ให้ครอบคลุมและคำนึงถึงสิทธิของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ
ด้าน นายอรรถพล กล่าวว่า ที่จริงเรามีประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธพุ์พืช เรื่อง ห้ามมิให้นําเข้าไปหรือจําหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทในอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในอุทยานแห่งชาติ ป้องกันไม่ให้มีการส่งเสียงดัง สร้างความเดือดร้อน รําคาญแก่นักท่องเที่ยว และรบกวนสัตว์ป่าอยู่แล้ว เป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในทางปฏิบัติส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว เชิญชวนให้สร้างจิตสำนึกร่วมกัน ให้สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ เพื่อประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้ดื่มด่ำบรรยากาศและใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อสรุปผลการปฏิบัติตามประกาศฯ ปัญหาอุปสรรค เพื่อนำมาสู่การดูแลการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์.