มูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation – AF) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีมอบทุนวิจัยประจำปี 2566 (Research Grant Award Ceremony 2023) ขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมี มร.ทาคุยะ ชิมามุระ (Mr. Takuya Shimamura) ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท AGC Inc. กล่าวแสดงความยินดี ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. กล่าวรายงาน และ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวต้อนรับ ณ ห้อง LIB108 สำนักหอสมุด มจธ.
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า ทุนวิจัยอาซาฮี ถือเป็นทุนที่ให้ความสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ ตลอดจนความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเป็นแหล่งทุนสำคัญของ มจธ.ที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานในด้านต่างๆ ต่อเนื่องยาวนานมาเป็นปีที่ 12 โดยในปีนี้ มจธ.ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และมหาวิทยาลัยสมทบทุนวิจัยอีก จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) หรือประมาณ 3,400,000 ล้านบาท ให้กับ 6 โครงการ ใน 4 สาขา
ประกอบด้วย 1. สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ “ยางธรรมชาติผสมเศษยางล้อฆ่าเชื้อโรคที่เตรียมด้วยกระบวนการหลอมและน้ำยางสำหรับขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ” โดย ผศ. ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์เป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติด้วยการนำเศษยางล้อรถยนต์ที่มีปริมาณหลายแสนตันต่อปีมาผสมกับยางธรรมชาติทั้งในรูปแบบยางแห้งและน้ำยาง โดยเพิ่มสมบัติการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัสแก่ผลิตภัณฑ์เพื่อการเพิ่มมูลค่าสูงสุด เพื่อสามารถผลิตเป็นนวัตกรรมใหม่และประยุกต์ใช้ได้กับหลายหลากผลิตภัณฑ์ตามชนิดของยางและพลาสติก และ โครงการ “ตัวเร่งปฏิกิริยาที่กู้คืนได้ด้วยแม่เหล็กสำหรับปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชันของน้ำมันปาล์มเป็นไบโอดีเซล” โดย ดร.กิตติชัย ไชยสีดา ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการนำตัวเร่งปฏิกิริยาออกจากกระบวนการผลิตไบโอดีเซล โดยการสร้างตัวเร่งปฏิกิริยาที่สามารถกู้คืนได้ด้วยแม่เหล็ก (Ag/V2O5/F3O4) ซึ่งจะทำโดยการเตรียมและปรับแต่งตัวเร่งปฏิกิริยาที่ประกอบด้วยโลหะเงิน (Ag) วานาเดียม(V) ออกไซด์ (V2O5) และเหล็ก(II,III) ออกไซด์ (Fe3O4) เพื่อผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำงานร่วมกันซึ่งสามารถกระตุ้นปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชันของไตรกลีเซอไรด์ให้เป็นเมทิลเอสเทอร์ของกรดไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปอร์เซ็นต์ที่แท้จริงของโลหะแต่ละชนิดในตัวเร่งปฏิกิริยา สัณฐานวิทยา ขนาดอนุภาคและรูปร่างของอนุภาคนาโนเงิน สถานะออกซิเดชันของโลหะแต่ละชนิด และแถบเซอร์เฟสพลาสมอนจะมีการตรวจสอบและวิเคราะห์
2. สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ “การศึกษาจลนพลศาสตร์และโครงสร้างทางเคมีเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพการเร่งปฏิกิริยาของเอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดส ที่ก่อให้เกิดความหมองคล้ำในทุเรียนไทย” โดย ดร.ลีลา รักษ์ทอง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ เนื่องจากทุเรียนเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย คุณภาพของทุเรียนขณะทำการขนส่งไปยังตลาดได้รับผลกระทบจากภาวะความหมองคล้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของอนุพันธ์ฟีนอลด้วยเอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดส งานวิจัยนี้ใช้เทคนิครีคอมบินแนนท์ดีเอ็นเอเทคโนโลยีในการผลิตเอนไซม์ดังกล่าวจากทุเรียน เพื่อวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพและจลนพลศาสตร์เคมีที่สามารถบ่งบอกความว่องไวในการเกิดความหมองคล้ำและความจำเพาะของเอนไซม์ต่ออนุพันธ์ฟีนอลในผลไม้ชนิดนี้ นอกจากนี้มีแผนการทำโครงสร้างสามมิติของเอนไซม์ในระดับโมเลกุลเพื่อศึกษาอันตรกิริยาที่เกิดขึ้นในเชิงลึกต่อไป องค์ความรู้ที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพเอนไซม์และสร้างกลยุทธ์ในการรักษาคุณภาพทุเรียนให้กับภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมส่งออกของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต และโครงการ “การพัฒนาการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช” โดย ดร.กันทรากร มาเจริญ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ งานวิจัยนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาเซลล์หรือกลุ่มเซลล์ (แคลลัส) ของฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculate) เพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงเซลล์แบบแขวนลอยสำหรับการผลิตสารเมตาบอไลต์ทุตยิภูมิที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น แอนโดรกราโฟไลด์ ที่มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ต้านไวรัส และต้านมะเร็ง โดยจะมีการตรวจวัดความเข้มข้นของแอนโดรกราโฟไลด์ที่สะสมอยู่ในแคลลัสและที่อยู่ในอาหารที่เหลือจากการเพาะเลี้ยงเปรียบเทียบกันด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟีของเหลวแรงดันสูง (high performance liquid chromatography, HPLC)
3. สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการ “การกำจัดสารกลุ่มเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและการลดความเป็นพิษในน้ำ ด้วยนวัตกรรมการออกซิเดชั่นขั้นสูงแบบใหม่ที่ใช้รังสีอัลตราไวโอเลต” โดย ผศ. ดร.สุรพงษ์ รัตนกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากในปัจจุบันการปนเปื้อนของสารกลุ่มเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลในน้ำประปา สร้างความกังวลให้กับผู้ใช้น้ำประปาเป็นอย่างมากเนื่องจากความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้น้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค งานวิจัยนี้ได้ทำการประยุกต์ใช้นวัตกรรมการออกซิเดชั่นขั้นสูงแบบใหม่ที่ใช้รังสีอัลตราไวโอเลต เพื่อกำจัดสารกลุ่มเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลในกระบวนการผลิตน้ำสะอาด รวมถึงการทดสอบความเป็นพิษของน้ำด้วยวิธีทางชีวภาพ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจของผู้ใช้น้ำประปาว่าน้ำประปาปราศจากการปนเปื้อนของสารใดๆ และไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจากการอุปโภคบริโภค และ 4. สาขาพลังงาน (Energy) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการ “การพัฒนาการหาทอพอโลยีที่ดีที่สุดที่มีการใช้การเรียนรู้ของเครื่องสนับสนุนเพื่อหาโครงสร้างอิเล็กโทรดที่มีรูพรุนที่ดีที่สุดสำหรับอุปกรณ์พลังงานไฟฟ้าเคมี” โดย ดร.พัชรวัฒน์ เจริญอมรกิตติ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขช่องว่างความรู้การหาขั้นตอนวิธีที่ได้รับการยอมรับเพื่อเร่งกระบวนการการหาทอพอโลยีที่ดีที่สุด เพื่อลดความซับซ้อนระบบลงจากช่องว่างการวิจัยในการศึกษาก่อนหน้านี้