สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีภารกิจในการเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีภารกิจสำคัญในการให้การศึกษา การวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม สังคม รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับแผนระดับชาติในมิติต่างๆ โดยสจล. ได้กำหนดเป็นดัชนี 5 Global Index เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็น “ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก (The World Master of Innovation)” สร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อคนทุกคน และสร้างเสริมทักษะความรู้ให้ประชากรไทยโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา กลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพพร้อมเป็นกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงทิศทางการบริหารงานปี 2567 ว่า การวางแผนงานที่เป็นระบบ มีตัวชี้วัดและเป้าหมายชัดเจน จะนำมาซึ่งกระบวนการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ โดยสจล. กำหนดเป็นแผนกลยุทธ์ตัวชี้วัด 5 Global Index ในการขับเคลื่อนงานของสถาบันในด้านวิชาการ งานด้านวิจัยและนวัตกรรม งานบริการสังคม ซึ่งประกอบด้วย
Index ที่ 1 Global Citizen สร้างนักศึกษาที่มีศักยภาพ และมีความสามารถในการแข่งขัน
โดยจะมีการสร้างหลักสูตรทันสมัยตรงความต้องการของตลาดปรับได้ตลอดเวลา สนับสนุนการเรียนการสอน พัฒนาทักษะ เน้นการปฏิบัติจริง ผลักดันให้นักศึกษาเริ่มทำโปรเจค ตั้งแต่ ปี 1 เน้นทักษะการปฏิบัติ การแก้ปัญหา และการทำงาน สร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของทุกคณะ สร้างหลักสูตร Transdisciplinary บูรณาการร่วมระหว่างคณะที่มีความแตกต่างของศาสตร์และศิลป์ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถด้านภาษาให้กับนักศึกษา จัดตั้งสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิตพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KMITL Life Long Learning Center: KLLC)เพื่อจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสะสมเครดิต และเพิ่มทักษะแก่ผู้สนใจทุกช่วงวัย และสร้างโอกาสนักเรียน นักศึกษาสู่การเป็นนวัตกร เป็นผู้ประกอบการ มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในระดับโลกได้
Index ที่ 2 Global Innovation จากการเรียนรู้ สู่นวัตกรรมเพื่อประเทศแข่งขันเวทีโลก
สนับสนุนและยกระดับคุณภาพงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ระดับแนวหน้า นำไปใช้ได้จริงหรือแก้ไขปัญหาของสังคม ประเทศ ซึ่งจะมีการผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ทำวิจัยทำผลงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ไปสู่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในระดับนานาชาติ ได้รับการอ้างอิงในระดับนานาชาติ ผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานนวัตกรรมหรืองานสร้างสรรค์ได้รับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงได้รับรางวัลในระดับชาติและนานาชาติ นำไปสู่การพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”
Index ที่ 3 Global Learning วิทยาเขตชุมพรฯ ด่านช้าง ดินแดนแห่งการเรียนรู้
เราดำเนินการสร้างวิทยาเขตชุมพรฯ และพื้นที่สถาบันที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ครบวงจรร่วมกับชุมชน ด้านเกษตรอัจฉริยะ ด้านพลังงาน โดยใช้โมเดล BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด โดยเฉพาะการนำองค์ความรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรมมาพัฒนาพื้นที่เกษตรอัจริยะ สร้างงานและอาชีพให้ชุมชนได้ด้วย
Index ที่ 4 Global Infrastructure เพิ่มคุณภาพชีวิตของบุคลากรและนักศึกษา
สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนและการทำงาน โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการอำนวยความสะดวก รวมทั้งปรับปรุงอาคารต่าง ๆ และสภาพแวดล้อมไปสู่ Green University ด้วยการเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามอาคารต่างๆ รวมถึงการปรับภูมิทัศน์สถาบันให้ดียิ่งขึ้น เพิ่มระบบความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี เข้าถึงง่าย รวดเร็ว แม่นยำ โดยสำนักวิจัยเมืองอัจฉริยะ และให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรทางกายภาพให้เกิดความคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งห้องเรียน ห้องปฏิบัติการและห้องประชุม ส่งเสริมกิจกรรมกีฬา และการออกกำลังกาย
Index ที่ 5 Global Management คนพร้อม ระบบพร้อม วิ่งไปด้วยกัน ด้วยธรรมาภิบาล
มุ่งให้มีระบบการบริหารจัดการภายในสถาบันที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยการบริหารงานด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) ตั้งสำนักบริหารจัดการข้อมูลดิจิตอล (KMITL Data management center :KDMC) ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อการตัดสินใจและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแม่นยำ พัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลและการเงินที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพของบุคลากร พัฒนาระบบประเมินศักยภาพพนักงาน DPBP ส่งเสริมโครงการผู้บริหารพบประชาคมและนักศึกษา และแชร์ทรัพยากรบุคลากรร่วมกัน เช่น ด้านการเรียนการสอนข้ามคณะ วิทยาลัย เพื่อดึงศักยภาพบุคลากรมาร่วมกันพัฒนาสถาบัน
ทั้งนี้แผนบริหารทั้ง 5 Global Index ได้กำหนดกระบวนการที่เรียกว่า KMITL Readiness Level (KRL) เป้าหมายระยะปี พ.ศ. 2567-2569 เพื่อเป็นการทบทวน และปรับปรุงแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสังคมโลก โดยเราจะมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ระบบ และกระบวนการทำงานออกเป็นระดับตามเป้าหมายในแต่ละปี และวิธีการนี้ยังจะเป็นการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมจากบุคลากรทุกคน เป็นการพัฒนาคน และองค์กรไปพร้อมกันอย่างมีเป้าหมาย มีทิศทางที่ชัดเจน สู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย The World Master of Innovation ได้ในอนาคต