มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่สู่นักปฏิบัติการทางสังคมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ (Young Leaders for Health) มุ่งบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพในการทำงานด้านการพัฒนาสังคม โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า “โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่สู่นักปฏิบัติการทางสังคมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ (Young Leaders for Health: YL) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานกลุ่มแผนงานเชิงพื้นที่ องค์กร และกลุ่มประชากร” เป็นการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่สู่การเป็นนักปฏิบัติการสังคมบนฐานความเป็นธรรมทางสุขภาพ โดยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการครั้งที่ 1 Module Y1: Equity, SDGs, Empathy, Value ด้วยการนำคนรุ่นใหม่และทีมพี่เลี้ยงโครงการรวม 50 คน เดินทางไปเรียนรู้ความเป็นธรรมและความยั่งยืน ด้วยปฏิบัติการที่เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จากบทเรียนในพื้นที่ในชื่อว่า “อยุธยาที่เคย (ไม่) รู้จัก”
“โดยวันแรกเริ่มจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเป็นเมืองท่านานาชาติของอยุธยา โดยวิทยากร ดร.ธิษณา วีรเกียรติสุนทร นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญอยุธยา ที่นำพาย้อนอดีตไปทำความความรู้จักอยุธยาในฐานะเมืองศูนย์กลางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เคยรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเต็มไปด้วยชนชาติหลากหลายที่เข้ามาทำการค้าขายตั้งถิ่นฐาน ชวนมองดูผู้คน ชุมชน ตลาด โบราณสถาน และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่ ผ่านการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ที่ทำให้รู้จักอยุธยาในมิติที่เคยเป็นเมืองการค้านานาชาติ เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านประวัติศาสตร์เมืองอยุธยา ในฐานะเมืองการค้าที่มีชุมชนคนต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม (มุสลิม จีน มอญ ฮอลันดา ฝรั่งเศส โปรตุเกส ญี่ปุ่น) เกิดเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีสีสัน
วันต่อมาพาคนรุ่นใหม่ไปเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชนที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านโคกจุฬา และบ้านคลองขนมจีน ชุมชนเกษตรกรรมที่สามารถสร้างความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ด้วยวิถีชุมชนพึ่งตนเอง ใช้กระบวนการเรียนรู้ผ่านฐานการเรียนรู้ 3 ฐาน ได้แก่ การทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี การจัดการขยะ และการสร้างรายได้จากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ทำจากผักตบชวา เพื่อศึกษาบทเรียนชุมชนที่เป็นตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการมาเรียนรู้ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนแรกเพื่อเป็นบทนำเข้าสู่การเรียนรู้เรื่องธุรกิจเพื่อสังคมต่อไป” คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ม.รังสิต กล่าว