ว่ากันว่า “ภาพหนึ่งภาพมีล้านความหมาย” เพราะภาพถ่ายไม่ได้มีไว้เพียงแค่บันทึกความทรงจำ หรือถ่ายเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ภาพถ่ายสามารถบอกเล่าหรือแชร์มุมมองที่แตกต่างของช่างภาพผู้กดชัตเตอร์ วันนี้จะพาทุกท่านไปเปิดประสบการณ์ การสื่อสารผ่านภาพถ่าย
อาจารย์มาร์ค-ภานุพันธ์ กิจแสวง อาจารย์สาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการสนใจถ่ายภาพว่า ประมาณช่วงเรียนปริญญาตรีปี 3 ช่วงนั้นลงเรียนวิชาถ่ายภาพเป็นวิชาโท ประกอบกับเริ่มสนใจจริงจังคือตอนที่โดนกดดันจากครอบครัว ด้วยความที่เราเป็นเด็กนิเทศศาสตร์ ทุกครั้งที่ไปงานหรือมีงาน เขาจะเป็นคนถ่ายภาพให้เรา ซึ่งแน่นอนว่ามาพร้อมกับความคาดหวังว่าเราต้องถ่ายสวย จากจุดนั้นเราก็พยายามพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ ประกอบกับช่วงฝึกงาน ได้ฝึกในตำแหน่งช่างภาพให้กับ GMM Grammy จึงทำให้เรายิ่งต้องพัฒนาตนเองให้มากกว่าเดิมและต่อยอดเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน
“งานแรกในช่วงที่เริ่มถ่ายภาพใหม่ๆ คือ งานถ่ายภาพรับปริญญาเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับตอนนั้นสนใจงานถ่าย Magazine ด้วย จึงใช้โอกาสบางจังหวะที่มีคนจ้างไปถ่ายงานรับปริญญานอกรอบฝึกเรื่องทิศทางของแสงไปในตัว เมื่อเริ่มมีกลุ่มลูกค้า มีผลงานมากขึ้น ก็ขยับไปรับงานถ่ายภาพที่ Scale ใหญ่ขึ้น เช่น งานแต่งงาน งานสังสรรค์ รับจ็อบงานถ่ายภาพลักษณะนี้อยู่ช่วงหนึ่งและรับโจทย์งานจากทาง GMM Grammy ไปด้วย หลังจากนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่อเมริกา ซึ่งช่วงแรกที่ย้ายไปยังไม่กล้ารับงานถ่ายภาพเพราะยังติดอยู่กับเรื่องของภาษาในการสื่อสาร ใช้ระยะเวลาอยู่ประมาณหนึ่ง กระทั่งช่วงที่เริ่มเรียนต่อปริญญาโท ก็เริ่มรับงานเป็นการถ่ายภาพให้ร้านอาหารไทย โดยเริ่มจากเอาผลงานของเราไปให้เขาดู แล้วก็ขายงานให้เขาฟัง เรียกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาทองของผมเลย เพราะผมถ่ายภาพให้แทบทุกร้าน และเมื่อถ่ายภาพร้านอาหารมาสักพัก บวกกับคอนเนคชั่นที่ได้จากห้องเรียน ผมก็เริ่มรับงานที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายภาพงานโฆษณา งานถ่ายภาพ Magazine งานถ่ายหน้าปกอัลบั้ม เป็นต้น”
อาจารย์มาร์ค ภานุพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลากหลายรูปแบบงานถ่ายภาพที่ผ่านมา ผมมองความสำเร็จทางด้านการถ่ายภาพ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือความสำเร็จทางด้านการถ่ายภาพเชิงพาณิชย์ มันคือช่วงเวลาที่เราถ่ายภาพที่อเมริกาในระยะเวลาหนึ่ง และเริ่มมีผลงานมากพอ จนมีโอกาสถ่ายภาพโปรโมตศิลปินให้กับทาง Spotify และใน ส่วนที่สอง จะเป็นความสำเร็จด้านการถ่ายภาพเชิงศิลปะ คือในช่วงที่กำลังจะจบปริญญาโท เราต้องทำโปรเจกต์จบ ซึ่งโปรเจกต์ที่ผมเลือกทำ ก็ส่งผลให้ผลงานของผมได้รับรางวัลมากมาย พร้อมทั้งได้ไปจัดในงานโชว์ภาพถ่ายในหลายที่ ทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย
สำหรับปัจจุบัน อาจารย์มาร์ค ภานุพันธ์ เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่สาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต โดยได้เปิดมุมมองความสำคัญของการถ่ายภาพในงานนิเทศศาสตร์ ไว้ว่า ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเรามากขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอย่างง่ายเพียงแค่นิ้วสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการจองที่พัก การเลือกซื้อสิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรากลับลืมถามตัวเองไปว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราเลือกซื้อสินค้าหรือสิ่งของเหล่านั้น และนั่นก็คือ “ภาพถ่าย” เพราะหากรีวิวเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ภาพถ่าย จึงเป็นสิ่งแรกที่คนหรือลูกค้า หรือกลุ่มเป้าหมายจะเห็นเป็นสิ่งแรกก่อนที่จะเข้าไปดูรีวิวเสียอีก นั่นเพราะ… “รูปถ่ายบอกถึงรูปลักษณ์ไม่ใช่แค่สินค้า แต่รวมถึงรูปและลักษณะของแบรนด์นั้นๆ โดยบอกเล่าข้อความและลักษณะผ่านทางพรีเซนเตอร์ของแบรนด์”
สำหรับน้องๆ รุ่นใหม่ที่มี Passion อยากเป็นช่างภาพ หรือสนใจอยากศึกษาทางด้านการถ่ายภาพ แนะนำว่าให้ถ่ายภาพเยอะๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ หากมีงานหรือโอกาสเข้ามาให้รีบคว้าไว้ ฝึกฝนเยอะๆ ประสบการณ์จะทำให้เราเก่งขึ้น หรือหากใครสนใจอยากเรียนทางด้านภาพยนตร์ ที่นิเทศรังสิตเป็นหลักสูตรที่เน้นลงมือทำจริง ออกกองจริง ได้ประสบการณ์จริง