วันพุธที่ 4 กันยายน 2567 เวลา 10.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วย นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาฯ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. พร้อมด้วยที่ปรึกษาและคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ เดินทางไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะฯ เยี่ยมชมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง และศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ณ บริเวณสวนหกศูนย์ จากนั้น ร่วมปลูกไม้ผลกินได้ ภายใต้กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
จากนั้น นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดอาคารแปรรูปอาหารศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ ณ งานศึกษาและพัฒนาการปลูกพืช และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ช่วงบ่าย เป็นประธานการประชุมศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สัญจร ปี 2567 โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เป็นรองประธานการประชุมฯ พร้อมด้วยที่ปรึกษาและคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนฯ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาฯ ศูนย์สาขา ผู้บริหาร สำนักงาน กปร. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุม รวม 160 คน
การนี้ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. กล่าวถึงการจัดโครงการฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ศูนย์ศึกษาฯ และศูนย์สาขาฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
จากนั้นองคมนตรี กล่าวเปิดการประชุมฯ โดยที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานในการสำรวจและทบทวนสถานะของศูนย์เรียนรู้ของศูนย์ศึกษาฯ และศูนย์สาขา ซึ่งจากการดำเนินงานสามารถจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริเพิ่มขึ้น 128 แห่ง รวมเป็น 221 แห่ง แบ่งเป็น 7 ด้าน ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรปลอดสารพิษ ปศุสัตว์ ประมง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่น ๆ
นอกจากนี้สำนักงาน กปร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ได้รับอนุญาตเลขที่จดแจ้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อย. เพื่อเป็นการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
รวมทั้งยังร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการวิจัยและพัฒนาให้ได้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพจากพืชสมุนไพรในพื้นที่ดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น หญ้าแฝก ว่านสาวหลง ผักกาดทะเล สาหร่ายพวงองุ่น เครือหมาน้อย ไข่ผำ ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดเชิงทันตกรรมได้ ในส่วนของทิศทางการดำเนินงานได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลักสูตรฝึกอบรมของศูนย์ศึกษาฯ และศูนย์สาขาฯ ให้เหมาะสมก้าวทันสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น โดยในแต่ละปีมีผู้เข้ารับการอบรมจากศูนย์ศึกษาฯ ทั้ง 6 แห่ง มากกว่า 10,000 คนต่อปี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศทั้งในสถานการณ์ปกติและในภาวะวิกฤติ
สำหรับการจัดโครงการศูนย์ศึกษาฯ สัญจร ปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน 2567 นอกจากการประชุมแล้วยังมีกิจกรรมการศึกษาดูงาน ณ ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ สถานประกอบการผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ในด้านต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป