แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ นักแสดงแถวหน้าของประเทศไทย เข้าร่วมชมการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ‘พระจักราวตาร’ ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567
เขมนิจกล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของคนไทยที่สมเด็จพระบรมราชนนีพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดการแสดงโขนมาตั้งแต่ปี 2550 เพราะ ‘โขน’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO)
โดยในปี 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงสืบสานพระราชปณิธานของพระบรมราชชนนีพันปีหลวงให้ดำรงอยู่ต่อไป
เขมนิจกล่าวถึงเอกลักษณ์ของการแสดงโขนเพิ่มเติมไว้ว่า การแสดงโขนเป็นการผสมผสานศิลปกรรมความงดงามของการสร้างฉากและเครื่องประกอบฉาก จากขนบจารีตและเทคนิคสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
นอกจากนั้นเขมนิจยังเดินชมเบื้องหลังการเตรียมพร้อมการแสดงโขนรามเกียรติ์ พร้อมกับ ครูไก่-ผศ.ดร.สุรัตน์ จงดา อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์และผู้เชี่ยวชาญงานด้านศิลปวัฒนธรรม ศิลปะการแสดง และพื้นฐานนาฏศิลป์ไทย เพื่อให้เห็นถึงความประณีตในการแต่งกายของนักแสดงที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ออกแบบเพื่อการแสดงโดยเฉพาะ ทั้งตัวละครพระราม พระลักษณ์ นางสีดา กวางทอง และอื่นๆ กว่า 200 ตัวละคร
“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงใส่พระทัยเป็นอย่างมาก ทรงบอกว่า หนึ่ง ฟื้นฟูงานเก่า สอง ทำงานให้มีความประณีตงดงาม สาม ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่สนใจ
“จะเห็นว่า สมัยก่อนงานปักไทยจะไม่ละเอียดละออ แต่หลังๆ เด็กรุ่นใหม่ที่สืบทอดงานโขน งานฝีมือ ตอนนี้งานปักไทยจะวิจิตรงดงามแพร่หลายไปสู่วงการอื่นๆ ด้วย” ผศ.ดร.สุรัตน์กล่าว
ขณะที่การแต่งหน้าตัวละคร สุรัตน์เล่าให้เขมนิจฟังว่า ได้ ครูมัม-พงศ์รัต กิจบำรุง มาเป็นช่างแต่งหน้าสำหรับการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่มีการปรับใช้เครื่องสำอางร่วมสมัยมาปรับใช้
“สิ่งที่ยังมีอยู่คือการใช้สีดำ สีแดง และสีขาว ขณะที่ลายเส้นการแต่งหน้าจะเลียนแบบมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง” ช่างแต่งหน้าสำหรับการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ระบุ
สำหรับการแสดงโขนตอนพระจักราวตาร เป็นการแสดงกฤดาภินิหารของพระนารายณ์ ที่อวตารลงมาเป็นพระราม กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยาเพื่อปราบฝ่ายอธรรม เปรียบดั่งราชวงศ์จักรีที่ผดุงความสุขและความสงบของพสกนิกรชาวไทยตลอดมา โดยการแสดงที่งดงามครั้งนี้แสดงโดยนักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์
“การแสดงโขนสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ตอนพระจักราวตารที่จัดขึ้นในปีมหามงคลนี้ เป็นนาฏกรรมไทยอันทรงคุณค่าที่ได้สืบสาน รักษา และต่อยอด ให้ดำรงอยู่เป็นมรดกของแผ่นดินสืบไป” เขมนิจกล่าวทิ้งท้าย